
ประกาศด่วนที่สุด! เฝ้าระวังพายุโชนร้อน วิภา ใกล้ชิด เตรียมกำลังพร้อมอุปกรณ์ช่วยเหลือ 24 ชม.
วันนี้ 20 ก.ค.68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอธิสรรค์ อินทร์ตรา ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี/ผู้อำนวยการจังหวัด กล่าวว่า ด้วยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง กอปรกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศแจ้งเตือน เรื่องฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 19-24 กรกฎาคม 2568
และคาดการณ์ว่าพายุโชนร้อน วิภา ที่มีศูนย์กลางอยู่บริเวณด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์จะเคลื่อนผ่านตอนบนของประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบนในช่วงวันที่ 19-22 กรกฎาคม 2568 หลังจากนั้นจะเคลื่อนผ่านทางตะวันออกของเกาะไหหลำและเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศจีนตอนใต้หรือเวียดนามตอนบน และจะอ่อนกำลังลงลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำเมื่อเคลื่อนขึ้นฝั่ง และอาจจะเคลื่อนตัวตามร่องมรสมที่พาดผ่านภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่งในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคกลางด้านตะวันตก
จากสถานการณ์ดังกล่าวนั้นนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ มีความห่วงใยต่อประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นเป็นอย่างมาก
ดังนั้น จึงได้สังการให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางกำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการจังหวัดได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มที่อาจจะเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า เพื่อป้องกันผลกระทบต่อประชาชนให้มีน้อยที่สุด
เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ จึงให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดำเนินการ ดังนี้
1.ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกระดับ และหน่วยงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับท้องถิ่นและท้องที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและผู้นำชุมชน ให้ติดตามสถานการณ์ สภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำในแม่น้ำและแหล่งเก็บน้ำขนาดต่าง ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งข้อมูลข่าวสารการแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานภาครัฐตามช่องทางต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนในระดับชุมชน หมู่บ้าน รับทราบสถานการณ์แนวทางการปฏิบัติอย่างลอดภัย และเตรียมความพร้อมหากจำเป็นต้องมีการอพยพออกจากพื้นที่
2.ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกระดับ และหน่วยงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับท้องถิ่นและท้องที่ ตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมเป็นประจำบ่อยครั้ง หรือพื้นที่ สถานที่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ อาทิ โรงพยาบาล พื้นที่ชุมชน พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ฯลฯ และกำหนดจุดเพื่อให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือหน่วยงานที่มีศักยภาพนำเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าประจำไว้ในพื้นที่เป็นการล่วงหน้า ให้พร้อมเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที
3.ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกระดับ และหน่วยงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับท้องถิ่นและท้องที่ ให้สำรวจสิ่งก่อสร้างหรือสิ่งกีดขวางทางน้ำที่ทำให้เกิดอุทกภัย อาทิ ถนน สะพาน ท่อระบายน้ำ หรือสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ตลอดจนวัชพืช ขยะ เศษวัสดุต่าง ๆ ที่กีดขวางทางน้ำ และดำเนินการปรับปรุง แก้ไขไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำในพื้นที่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
4.ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกระดับ และหน่วยงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับท้องถิ่นและท้องที่ จัดเตรียมศูนย์พักพิงชั่วคราวพื้นที่รองรับการอพยพประชาชน รวมทั้งเตรียมความพร้อมการดูแลด้านการดำรงชีพเบื้องต้นให้เพียงพอ
หากเกิดสถามการณ์สาธารมภัยขึ้นในพื้นที่ ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบกับทันทีโดยประสานจัดกำลังจิตอาสาเข้าร่วมปฏิบัติงานด้วย พร้อมทั้งแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี ทราบทันที ทางหมายเลขโทรศัพท์/โทรสาร 034-515998,034-516795 และแอปฟลิเคชันไลน์ : รายงานสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี
จากข้อห่วงใยของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี จึงมีด่วนที่สุด ไปถึง หัวหน้าส่วนราชการ, ประชาสัมพันธ์จังหวัดกาญจนบุรี, ผู้อำนวยการอำเภอทุกอำเภอ, นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี และผู้อำนวยการท้องถิ่นทุกแห่ง ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง
ผู้สื่อข่าวสยามนิวส์ จังหวัด กาญจนบุรี รายงาน