
กรมทะเล เตือน! มังกรทะเลสีน้ำเงิน-แมงกะพรุน โผล่ภูเก็ต มีพิษร้ายแรง
เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2568 ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รายงานการได้รับข้อมูลผ่านทางสื่อออนไลน์เฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2568 เวลาประมาณ 19.00 น. ว่าพบทากทะเลสีน้ำเงิน หรือ มังกรทะเลสีน้ำเงิน (Blue Dragon) ถูกคลื่นซัดเข้าบริเวณหาดกะรน จ.ภูเก็ต เนื่องจากคลื่นลมแรง สูงประมาณ 1-2 เมตร
ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
เบื้องต้นลงพื้นที่ตรวจสอบ วันที่ 10-11 ก.ค. 68 พบว่าเป็นทากทะเลสีน้ำเงินที่มีพิษชนิด Glaucus sp. ขนาดประมาณ 0.5 ซม. โดยพิษมาจากการเก็บสะสมเข็มพิษจากเหยื่อที่กินเข้าไป ไม่สามารถผลิตเข็มพิษได้ด้วยตัวเอง
ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
นอกจากนี้ ยังพบ แมงกะพรุนกะลาสี (Velella velella) และแมงกะพรุนแว่นตาพระอินทร์ (Porpita porpita) ซึ่งเป็นอาหารของทากทะเลสีน้ำเงินร่วมด้วย ฉะนั้นหากสัมผัสทากทะเลสีน้ำเงิน จะรู้สึกเจ็บปวด จึงไม่แนะนำให้จับเล่น หากสัมผัสแนะนำให้ใช้น้ำส้มสายชูเช่นเดียวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับสัมผัสแมงกะพรุนพิษ
ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
นอกจากนี้ขอให้ประชาชน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยวในพื้นที่ระมัดระวังการพบเจอ แมงกะพรุนหัวขวด (Bluebottle Jellyfish) ชนิด Physalia sp. หนึ่งในอาหารของทากทะเลสีน้ำเงินที่มีพิษ โดยสถิติมักพบแมงกะพรุนกลุ่มนี้หลังจากการพบเจอทากทะเลสีน้ำเงิน
ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
เรียบเรียงเนื้อหาโดย สยามนิวส์