หมอสุรัตน์ เผยสาเหตุ เคสคนไข้วัย 70 ปี มีจุดขาวเล็กๆ กระจายทั่วแผ่นหลัง

หมอสุรัตน์ เผยสาเหตุ เคสคนไข้วัย 70 ปี มีจุดขาวเล็กๆ กระจายทั่วแผ่นหลัง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท ได้โพสต์เรื่องราวที่สร้างความเข้าใจและมุมมองใหม่เกี่ยวกับ จุดขาว บนผิวหนังของผู้สูงอายุ ผ่านเฟซบุ๊กเพจ สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์ โดยเล่าถึงเคสผู้ป่วยชายวัย 70 ปี ที่ป่วยเป็นพาร์กินสันมานาน

ผู้ป่วยรายนี้เข้ามารับการตรวจด้วยความกังวลเรื่องจุดขาวเล็กๆ ขนาด 2-5 มิลลิเมตร ที่กระจายทั่วแผ่นหลัง โดยไม่มีอาการคัน เจ็บ หรือบวมใดๆ ด้วยความที่ป่วยพาร์กินสันมาหลายปี ทำให้การดูแลผิวพรรณกลายเป็นเรื่องรองเมื่อเทียบกับการใช้ชีวิตประจำวัน

ผศ.นพ.สุรัตน์ ได้วินิจฉัยว่าจุดขาวดังกล่าวคือ Idiopathic Guttate Hypomelanosis (IGH) ซึ่งเป็นภาวะที่ผิวหนังสูญเสียเม็ดสีตามธรรมชาติเมื่ออายุมากขึ้น โดยไม่ใช่เชื้อรา ไม่ใช่มะเร็ง และไม่มีอันตรายใดๆ จึงไม่จำเป็นต้องรักษา

ภาพจาก เฟซบุ๊ก : สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์

เมื่อผู้ป่วยได้ยินคำอธิบายก็ถอนหายใจและกล่าวว่า แสดงว่าผมแก่จริงแล้วสินะครับหมอ ผศ.นพ.สุรัตน์ จึงตอบกลับด้วยรอยยิ้มว่า แก่คือของขวัญครับ คนที่มีโอกาสเห็นจุดขาวพวกนี้ แปลว่าเขาผ่านชีวิตมาได้ยาวนานจนถึงวัยที่ร่างกายเริ่มเปลี่ยนไปอย่างช้าๆ…อย่างอ่อนโยน พร้อมแนะนำให้ทามอยส์เจอไรเซอร์เพื่อบำรุงผิว ส่วนจุดขาวนั้น ให้เก็บไว้เป็นเครื่องหมายแห่งกาลเวลาที่ได้เดินทางมาไกล

ผศ.นพ.สุรัตน์ ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรอยโรคผิวหนังที่มีสีซีดจางในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในบริบทของผู้ป่วยพาร์กินสัน ดังนี้:
1.Idiopathic Guttate Hypomelanosis (IGH): จุดด่างขาวเล็กๆ ที่พบบ่อยบริเวณแขน ขา และหลังในผู้สูงอายุ เกิดจากการลดลงของเซลล์สร้างเม็ดสี (melanocyte) ตามวัย เป็นภาวะที่ไม่เป็นอันตรายและไม่ต้องรักษา

2.Postinflammatory Hypopigmentation: จุดขาวที่เกิดหลังจากผิวหนังอักเสบ หรือมีการระคายเคือง เช่น การเกา หรือผิวแห้งมาก ซึ่งในผู้ป่วยพาร์กินสัน ผิวมีแนวโน้มที่จะแห้งและบางจากภาวะ Autonomic dysfunction

3.Tinea Versicolor (กลากเกลื้อน): จุดขาวหรือสีอ่อนที่เกิดจากเชื้อรา Malassezia มักพบบริเวณแผ่นหลัง อาจมีขุยเล็กน้อยแม้ไม่มีอาการคัน การวินิจฉัยสามารถทำได้โดยใช้ Wood’s lamp หรือการตรวจ KOH preparation

4.Vitiligo (ด่างขาว): จุดขาวที่เกิดจากการสูญเสียเซลล์สร้างเม็ดสีอย่างสมบูรณ์ มักมีขอบชัดเจน สีขาวสนิท และอาจขยายขนาดได้ อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้พบน้อยในผู้สูงอายุ และไม่ใช่ตำแหน่งปกติของการเริ่มต้นเป็น

ซึ่งจุดขาวจากการสูญเสียเมลาโนไซต์โดยสิ้นเชิงมักมีขอบชัด สีขาวสนิท และขยายขนาดได้อาจพบน้อยในผู้ป่วยสูงอายุและไม่ใช่ตำแหน่งปกติของการเริ่มเป็นรายนี้ตรวจแล้ว ขุยไม่มี ไม่มีคัน คิดถึงจากสูงอายุ แต่มีแจ้งในการทำ KOH เพื่อดูว่าเป็นเกลื้อน ราหรือไม่เรียบร้อย

ภาพจาก เฟซบุ๊ก : สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์

เรียบเรียงเนื้อหาโดย สยามนิวส์

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ