กัมพูชาตีฆ้องกลองทั่วประเทศ ฉลองยูเนสโกขึ้นทะเบียน 3 สถานที่มรดกโลก

กัมพูชาตีฆ้องกลองทั่วประเทศ ฉลองยูเนสโกขึ้นทะเบียน 3 สถานที่มรดกโลก

13 กรกฎาคม 2568 กระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ ของกัมพูชา ร่วมกันตีฆ้องและกลองพร้อมกันทั่วประเทศ เวลา 07.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ตามคำสั่งของ นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต เพื่อเฉลิมฉลองหลังจากที่องค์การยูเนสโกมีมติขึ้นทะเบียน 3 สถานที่ทรมานคนในยุคเขมรแดงเป็นมรดกโลก ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 47 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยรัฐบาลกัมพูชาเรียกสถานที่ทั้ง 3 แห่งนี้ว่า “แหล่งอนุสรณ์สถานแห่งความทรงจำของกัมพูชา จากศูนย์กลางแห่งการกดขี่สู่สถานที่แห่งสันติภาพและการรำลึก (Cambodian Memorial Sites: From Centres of Repression to Places of Peace and Reflection)

การขึ้นทะเบียนในครั้งนี้เกิดขึ้นตรงกับวาระครบรอบ 50 ปี ของการขึ้นสู่อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์เขมรแดง ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตราว 1.7 ล้านคน จากความอดอยาก การทรมาน และการสังหารหมู่ ในช่วงปี พ.ศ. 2518-2522 จนสิ้นสุดลงด้วยการรุกรานของเวียดนาม ซึ่งนายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ได้กล่าวถึงความสำคัญของการขึ้นทะเบียนว่าเป็นเครื่องเตือนใจอันยั่งยืนว่าควรปกป้องสันติภาพ พร้อมเชิญชวนประชาชนทุกเพศทุกวัย ร่วมกันวางดอกไม้และแสดงความเคารพต่อดวงวิญญาณของเหยื่อในระบอบเขมรแดงทุกวันที่ 11 กรกฎาคมของทุกปี

บรรยากาศเช้าวันนี้ กระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ ได้จัดพิธีตีฆ้องและกลอง เช่น ที่กระทรวงกลาโหม นายเตีย เซ็ยฮา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีหน้าอาคารกระทรวง โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้าร่วมหลายคน ขณะที่กระทรวงสารสนเทศ นายเนธ พักตรา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ก็นำทีมเจ้าหน้าที่และข้าราชการลั่นกลองเฉลิมฉลองเช่นกัน

ในต่างจังหวัด เช่น จังหวัดเสียมราฐ วัดและโรงเรียนหลายแห่งได้ร่วมกันตีฆ้องและกลอง เพื่อแสดงความยินดีกับการขึ้นทะเบียนสถานที่สำคัญทั้ง 3 แห่งเป็นมรดกโลก นับเป็นภาพแห่งความร่วมมือและการรำลึกถึงอดีตที่โหดร้ายเพื่อสร้างความสงบในปัจจุบัน

สำหรับสถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน 2 แห่ง ตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตวลสเลง ซึ่งเดิมเป็นโรงเรียนมัธยมที่ถูกเปลี่ยนเป็นเรือนจำ S-21 ในยุคเขมรแดง คาดว่ามีผู้ถูกคุมขังและทรมานราว 15,000 คน ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงภาพถ่ายของเหยื่อและอุปกรณ์ทรมาน ส่วน ทุ่งสังหารเจืองเอ็ก เป็นสถานที่ที่นักโทษจากตวลสเลงถูกนำมาประหารชีวิตทุกคืน และขุดพบร่างผู้เสียชีวิตกว่า 6,000 ร่างจากหลุมศพหมู่

อีกแห่งคือ เรือนจำ M-13 ตั้งอยู่ในชนบทของจังหวัดกำปงชนัง เคยเป็นสถานที่สำคัญในยุคแรกเริ่มของเขมรแดง ที่แกนนำได้ทดลองและพัฒนาวิธีการสอบสวนและทรมาน ปัจจุบันเหลือเพียงพื้นที่รกร้าง แต่ยังคงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ถึงความโหดร้ายในอดีต และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเช่นกัน

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ