เปิดสาเหตุ เครื่องบินแอร์อินเดีย ตก เสียชีวิตหลายร้อยราย รอดเพียงแค่ 1 คน (ข่าวต่างประเทศ)

เปิดสาเหตุ เครื่องบินแอร์อินเดีย ตก เสียชีวิตหลายร้อยราย รอดเพียงแค่ 1 คน (ข่าวต่างประเทศ)

วันที่ 12 กรกฎาคม 2568 มีรายงานความคืบหน้าเหตุเครื่องบินแอร์อินเดียตก หลังออกจากท่าอากาศยานเมืองอาห์เมดาบัด เมื่อกลางเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 260 ราย ทั้งบนเครื่องและบนพื้นดิน โดยมีผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียว

ล่าสุด สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า สาเหตุของอุบัติเหตุดังกล่าว เกิดจาก น้ำมันเชื้อเพลิงที่จ่ายให้กับเครื่องยนต์ถูกตัด ซึ่งได้รับการยืนยันจากผลการสืบสวนของสำนักงานสอบสวนอุบัติเหตุของอินเดีย หลังสามารถกู้ข้อมูลจากเครื่องบันทึกการบินหรือ กล่องดำ ของเครื่องบินได้สำเร็จ

โดยรายงานระบุว่า เครื่องบินลำดังกล่าวเป็น โบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ ซึ่งข้อมูลจากกล่องดำบันทึกการบินได้นาน 49 ชั่วโมง และเสียงในห้องนักบิน 2 ชั่วโมง รวมถึงช่วงเวลาที่เกิดเหตุ โดยขณะที่เครื่องบินทำความเร็วได้ 180 นอต สวิตช์ควบคุมเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ทั้ง 2 ตัว กลับถูกเปลี่ยนจากตำแหน่ง Run เป็น CUTOFF ทีละตัว โดยห่างกันเพียง 1 วินาที ทำให้เครื่องยนต์ขาดเชื้อเพลิงในทันที ทั้งนี้ จากเสียงในห้องนักบิน พบว่า นักบินคนหนึ่งถามอีกคนว่าทำไมถึงตัดสัญญาณ ซึ่งอีกคนตอบว่า ไม่ได้ทำ และในเวลาต่อมา สวิตช์ถูกเปลี่ยนกลับไปที่ตำแหน่งเดิม แต่เครื่องยนต์กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนจ่ายไฟอีกครั้ง ก่อนที่เครื่องบินจะสูญเสียแรงขับและตกในที่สุด

จากภาพที่ได้จากสนามบิน พบว่า เครื่องบินได้ใช้ Ram Air Turbine (RAT) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำรองของเครื่องบิน ในระหว่างที่กำลังไต่ระดับขึ้น ก่อนที่เครื่องจะเริ่มลดระดับความสูงและข้ามกำแพงรอบสนามบิน จากนั้นไม่นาน นักบินได้ส่งสัญญาณ เมย์เดย์ 3 ครั้ง ก่อนขาดการติดต่อกับหอบังคับการบิน

ส่วนด้านรายงานจากการตรวจสอบสภาพเครื่องบินและนักบิน ระบุว่า เครื่องยนต์ด้านซ้าย ติดตั้งเมื่อวันที่ 26 มีนาคม เครื่องยนต์ด้านขวา ติดตั้งเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม เชื้อเพลิง มีคุณภาพดีและไม่มีสิ่งปนเปื้อน น้ำหนักบรรทุก อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่มีสินค้าอันตราย หรือกิจกรรมของนกในพื้นที่ แฟลปที่ปีก ตั้งไว้ที่ 5 องศา เหมาะสมกับการบินขึ้น ล้อลงจอด ถูกตั้งในตำแหน่งต่ำตามปกติ โดย กัปตันอายุ 56 ปี มีชั่วโมงบินกว่า 15,000 ชั่วโมง และ นักบินผู้ช่วยวัย 32 ปี มีชั่วโมงบินกว่า 3,400 ชั่วโมง

ทั้งนี้ เดวิด ซูซี นักวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยทางการบิน ระบุว่า สวิตช์เชื้อเพลิงของเครื่องบินรุ่นนี้ออกแบบมาให้ ไม่สามารถขยับได้เอง โดยมีแถบโลหะป้องกันและกลไกล็อกเพื่อป้องกันการกดผิดพลาด ดังนั้น การที่สวิตช์เชื้อเพลิงทั้งสองถูกสับจึง เป็นสิ่งที่ผิดปกติอย่างมาก และอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์หรือระบบ

เรียบเรียงโดยทีมข่าวสยามนิวส์

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ