เปิดสถิติ 5 จังหวัดค้างหนี้ กยศ. สูงสุด-อายุที่ค้างชำระมากที่สุด

เปิดสถิติ 5 จังหวัดค้างหนี้ กยศ. สูงสุด-อายุที่ค้างชำระมากที่สุด

น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เดินหน้าปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ตาม พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 โดยมีการเปลี่ยนลำดับการชำระหนี้เป็น "เงินต้น – ดอกเบี้ย – เบี้ยปรับ" พร้อมลดอัตราเบี้ยปรับจากสูงสุด 18% เหลือเพียง 0.5% ส่งผลให้ผู้กู้ทุกรายจะเห็นยอดหนี้ลดลงทันที

การคำนวณหนี้แบบใหม่นี้ครอบคลุมผู้กู้ประมาณ 3.5 ล้านราย โดยขณะนี้ กยศ. ดำเนินการไปแล้วกว่า 2.3 ล้านราย หรือประมาณ 70% ผู้กู้สามารถตรวจสอบยอดหนี้ใหม่ได้ที่เว็บไซต์ www.studentloan.or.th

สำหรับผู้กู้ที่เคยทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ก่อนการคำนวณหนี้แบบใหม่ แม้อาจเห็นยอดหนี้สูงขึ้นในช่วงแรก แต่ระบบจะปรับยอดหนี้ให้อัตโนมัติหลังจากระบบใหม่แล้วเสร็จ

กยศ. อยู่ระหว่างการพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ เนื่องจากแอปพลิเคชัน "กยศ. Connect" ยังไม่สามารถรองรับระบบใหม่ได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อระบบใหม่แล้วเสร็จ ผู้กู้จะสามารถตรวจสอบยอดหนี้ที่แท้จริงได้ผ่านทางเว็บไซต์ www.studentloan.or.th

สำหรับระบบการหักเงินเดือนผ่านองค์กรนายจ้าง ที่ผ่านมา กยศ. ได้ดำเนินการหักเฉพาะยอดหนี้ปีปัจจุบัน ไม่รวมยอดหนี้ค้างในปีก่อนหน้า ซึ่งบางรายมียอดหนี้ค้างเก่า ทำให้ในเดือนเมษายน 2568 มีผู้กู้ที่ถูกหักเงินเดือนเพื่อชำระยอดหนี้ค้างเก่า จำนวน 490,225 ราย (510,716 บัญชี) และในเดือนพฤษภาคมอีก จำนวน 251,083 ราย (258,151 บัญชี)

ในการรองรับผู้กู้ที่ได้รับผลกระทบจากการหักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาทต่อบัญชี กยศ. มีแนวทางดูแลเป็น 2 กลุ่ม

ผู้ที่ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว - ต้องชำระตามยอดหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ในงวดแรกด้วยตนเอง และแจ้งนายจ้างเพื่อไม่ให้ถูกหักเงินเดือนเพิ่มอีก 3,000 บาท นายจ้างจะเริ่มหักเงินเดือนตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่งวดที่ 2

ผู้ที่ยังไม่ได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ - หากไม่สามารถให้หักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาท ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2568 ต้องยื่นขอปรับลดจำนวนการหักเงินเดือนทางเว็บไซต์ กยศ. ภายในกำหนดเวลา

ด้านความคืบหน้าในการคืนเงินให้ผู้กู้ที่จ่ายเกินหลังคำนวณหนี้ตามกฎหมายใหม่ ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2568 มีบัญชีที่มียอดชำระเกิน 286,362 บัญชี เป็นเงิน 3,399.13 ล้านบาท กยศ. คืนแล้ว 2,528 บัญชี เป็นเงิน 73.81 ล้านบาท และในเดือนพฤษภาคม 2568 จะคืนเงินเพิ่มเติมอีก 1,215 บัญชี เป็นเงิน 2.95 ล้านบาท โดยจะทยอยคืนทั้งหมดภายในเดือนกันยายน 2569

เปิดสถิติ 5 จังหวัดค้างหนี้ กยศ. สูงสุด-อายุที่ค้างชำระมากที่สุด

จังหวัดที่มีผู้ค้างชำระสูงสุด คือ

กรุงเทพมหานคร (129,146 บัญชี)

นครราชสีมา (78,816 บัญชี)

นครศรีธรรมราช (77,687 บัญชี)

ขอนแก่น (73,409 บัญชี)

เชียงใหม่ (63,346 บัญชี)

กลุ่มอายุที่ค้างชำระมากที่สุด คือ

ช่วงวัยทำงาน 30-39 ปี (1,132,339 บัญชี)

อายุ 40-49 ปี (675,184 บัญชี)

อายุ 20-29 ปี (356,209 บัญชี)

อายุ 50-59 ปี (25,906 บัญชี)

มากกว่า 59 ปี (3,396 บัญชี)

*ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2568

สิทธิพิเศษเมื่อทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. และมาตรการลดหย่อนหนี้

ผู้กู้ยืมที่เข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ทั้งแบบสัญญากระดาษและแบบออนไลน์ จะได้รับสิทธิพิเศษ ดังนี้

ปลดภาระผู้ค้ำประกันทันที

ผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนได้นานถึง 15 ปี หรือไม่เกินอายุ 65 ปี

ได้รับส่วนลดเบี้ยปรับ 100% เมื่อชำระหนี้งวดสุดท้ายเสร็จสิ้น

นอกจากนี้ กยศ. ยังมีมาตรการลดหย่อนหนี้เพื่อจูงใจให้ผู้กู้ยืมชำระเงินคืน โดยผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างระยะเวลาปลอดหนี้ และผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ที่ กยศ. ยังไม่ฟ้องคดี จะได้รับส่วนลดต้นเงิน 5-10% และส่วนลดเบี้ยปรับ 100% เมื่อชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียว สามารถลงทะเบียนขอรับสิทธิได้ที่ www.studentloan.or.th ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2568

"กยศ. เป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนไทย โดยเฉพาะผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 1% ต่อปี และไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ผู้กู้สามารถเริ่มชำระหนี้หลังจบการศึกษา 2 ปี และผ่อนชำระได้นานถึง 15 ปี" นางสาวศศิกานต์ กล่าว

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ