ไม่บอกไม่กล่าวล่วงหน้า โรงงานเย็บผ้าดัง ประกาศ ปิดตัวกระทันหัน ปิดประตูโรงงานหนี

ไม่บอกไม่กล่าวล่วงหน้า โรงงานเย็บผ้าดัง ประกาศ ปิดตัวกระทันหัน ปิดประตูโรงงานหนี

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 สำนักข่าวดังรายงานว่า จากกรณีที่ทางโรงงานแห่งหนึ่ง ได้ออกหนังสือประกาศปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด โดยประกาศในวันที่ 20 ตุลาคม มีผลวันที่ 21 ตุลาคม มีการชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ ว่าทางผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทั้งหมดของ บริษัทได้ล้มละลาย และไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า ทางบริษัทได้เจรจากับผู้ลงทุนรายใหม่เพื่อฟื้นฟูกิจการ แต่ยังไม่ได้รับผลอนุมัติ โดยภายใต้กฎหมายแรงงาน พนักงานจะได้รับสิทธิ์และผลประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด โดยได้มีการโอนเงินค่าจ้างงวดสุดท้าย นับถึงวันที่ 20 ตุลาคม เข้าบัญชีทุกท่านแล้ว ส่วนเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินค่าชดเชย บริษัทจะดำเนินการจ่ายให้เมื่อจำหน่ายรัพย์สินได้แล้ว โดยแบ่งจ่ายงวดแรกในวันที่ 20 ธันวาคม 2566 นั้น เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า

พนักงานโรงงานจำนวน 250 คน ได้มารวมตัวกันที่บริเวณหน้าโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าแห่งหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี ต.เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เพื่อเรียกร้องให้เร่งการจ่ายเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินค่าชดเชย เนื่องจากประสบปัญหาตกงานกระทันหัน และไม่มั่นใจการจัดการเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินค่าชดเชย ว่าจะได้รับหรือไม่ ซึ่งทางบริษัทได้ให้ตัวแทนเข้ามาเจรจากับตัวแทนพนักงาน โดยมีหน่วยงานราชการ และส.ส.ในพื้นที่เข้ามาร่วมหาทางแก้ไข

นางสาวศิริพร พนักงานตำแหน่งตัดเย็บเปิดเผยว่า ทางบริษัท ได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานในวันหยุดแจ้งเลิกจ้างปิดกิจการโดยไม่มีการบอกล่วงหน้าซึ่งก่อนหน้านี้ก็ยังทำงานปกติโดยแจ้งวันที่ 20 ตุลาคม 2566 มีผล 21 ตุลาคม 2566 ตนทำงานมา 14 ปี ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการพูดคุยอะไร พนักงานรู้เองว่าสถานการณ์ของโรงงานย่ำแย่ลงมานานแล้ว แต่ก็ปลอบใจพนักงานมาตลอดว่ามีเงินเข้ามา บ.ยังไปได้ต่อเราไม่เคยรู้เลย และไม่คิดว่าจะมาใช้วิธีปิดประตูโรงงานหนีแบบนี้ นางสาวศิริพร กล่าวต่อว่า ผลกระทบที่ได้รับตอนนี้เยอะมาก เรามีภาระค่าใช้จ่ายเยอะ และมาตกงานกระทันหัน โดยที่ไม่ได้รับเงินค่าชดเชยและไม่มีการชี้แจงรายละเอียด ว่า จะจ่ายเงินให้กี่งวดหรือยังไง

บอกเพียงแค่วันที่ 20 ธันวาคม 256 หลังรอขายสินทรัพย์ เมื่อไหร่จะได้เงินก็ยังไม่ทราบก็ยังไม่มีความแน่นอน เหมือนแค่ปัดความรับผิดชอบว่ารอวันที่ 20 ธันวาคม ซึ่งตนคิดว่ามันนานไป “วันนี้เรามาเรียกร้องให้ทางโรงงานมาจ่ายเงินค่าชดเชย หรือมาพูดคุยกันว่าจะชดเชยอย่างไร เบื้องต้นตอนนี้ยังไม่มีตัวแทนหรือเจ้าของโรงงานมาพูดคุยกับพนักงานแต่อย่างใด ยอมรับว่าตอนนี้เครียดมา 2 วันนี้เกาะกันในกลุ่มไลน์ มีข่าวอะไรก็จะแจ้งเข้ามาอัปเดตกัน และแรงงานพม่าประมาณครึ่งหนึ่งก็ได้รับผลกระทบ ตอนนี้ก็ยังไม่เซ็นต์เอกสารการทำงาน แล้วมาจากต่างที่และยิ่งเป็นช่วงสิ้นปีก็ยิ่งหางานยากขึ้นไปอีก” นางสาวศิริพร กล่าว

ต่อมาเวลา 09.30 น. ตัวแทนพนักงานได้เข้าไปพูดคุยหาข้อตกลงที่ห้องประชุมด้านในบริษัทพร้อมกับ นายจตุพร กมลพันธ์ทิพย์ ส.ส.ราชบุรีเขต 3 นายจรูญ ศิริสรณ์ ผู้แทนบริษัท นายไพรรัช พรมจีน สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดราชบุรี นายณัฐดนัย ครุฑดำ ปลัดอำเภอโพธาราม นายสมิทธิ สุภาพพรชัย กำนัน ต.เจ็ดเสมียน พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้นก็ได้มีการเจรจาพูดคุยโดยใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง ได้ข้อสรุปว่า เงินค่าตกใจหรือเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้า จากการตกลงกันทั้ง 2 ฝ่าย จะจ่ายให้กับพนักงานรายวัน อัตรา 50% และพนักงานรายเดือน 30% ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 ส่วนที่เหลือสำหรับพนักงานรายวันจะจ่าย 50% และพนักงานรายเดือนรับส่วนที่เหลืออีก 70% ในวันที่ 20 ฤศจิกายน โดยจ่ายผ่านธนาคาร ส่วนเงินค่าชดเชย ทั้งสองฝ่ายตกลงแบ่งจ่ายค่าชดเชยเป็น 3 งวด โดยงวดแรกจ่ายค่าชดเชย 30% โดยจะจ่ายงวดแรกวันที่ 20 ธันวาคม 2566 งวดที่ 2 จ่าย35% วันที่ 20 มกราคม 2567 งวดที่ 3 จ่าย 35% วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นงวดสุดท้าย โดย บริษัทจะจ่ายเข้าบัญชีของพนักงานแต่ละคน หลังได้ข้อสรุปทั้งหมดตัวแทนของพนักงานงานได้ออกไปชี้แจงกับพนักงาน กว่า 200 คน ซึ่งต่างก็ยอมรับได้ทั้งหมด และในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ให้มาดำเนินการเรื่องเอกสารให้เรียบร้อย

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ