ประวัติความเป็นมา วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม

ประวัติความเป็นมา วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม

ประเทศไทยกำหนดให้วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2519 เป็น วันแม่แห่งชาติ เป็นปีแรก ซึ่งก่อนหน้านั้น เคยมีการใช้วันที่ 10 มีนาคม, 15 เมษายน และ 4 ตุลาคม โดยงานวันแม่แห่งชาติ ถูกจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2486 ที่ สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ในช่วงนั้นเกิด สงครามโลกครั้งที่ 2 งานวันแม่ในปีต่อ ๆ มาจึงต้องงดไป แต่เมื่อสงครามสงบลง หลายหน่วยงานได้พยายามจัดให้มีวันแม่ขึ้นมาอีกครั้ง และก็มีการเปลี่ยนกำหนดการณ์วันแม่ไปหลายครั้ง

ต่อมากำหนดให้วันที่ 15 เม.ย.ของทุก ๆ ปี เป็นวันแม่แห่งชาติตามมติของคณะรัฐมนตรี โดยเริ่มจัดวันแม่ตั้งแต่ พ.ศ.2493 แต่ก็ต้องหยุดลงอีกในหลายปีต่อมา เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบไป ส่งผลให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งรับหน้าที่จัดงานวันแม่ขาดผู้สนับสนุน

พอมาถึงสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2515 แต่จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ.2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้กำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอน โดยถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็น วันแม่แห่งชาติ สืบสานมาถึงทุกวันนี้

โดยดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันแม่ ก็คือ ดอกมะลิ เพราะด้วยด้วยกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ และเป็นดอกไม้ที่มีสีขาว เปรียบได้กับความรักบริสุทธิ์ที่แม่มีต่อลูก ซึ่งคนไทยนิยมนำดอกมะลิมาร้อยเป็นมาลัยเพื่อบูชาพระ เพราะเปรียบเสมือนความรักอันบริสุทธิ์ที่ปราศจากข้อแม้และเงื่อนไข ขณะที่ มะลิมีกลิ่นหอมที่ยาวนาน อีกทั้งยังออกดอกได้ตลอดทั้งปี เปรียบได้กับความห่วงใยของแม่ที่มีต่อลูกไม่มีวันเสื่อมคลาย

สำหรับปี 2566 นี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน คำขวัญวันแม่แห่งชาติ 2566 รักของแม่หนักแน่นกว่าหินผา และอ่อนนุ่มเกินกว่าผืนผ้าไหม อบอุ่นอ่อนโยนกว่าสิ่งใด ลูกทำดีด้วยใจประกาศรัก

ข้อมูล twinkl

เรียบเรียง siamnews

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ