เรืองไกร ร้องอีก ยื่นศาล รธน. ตรวจสอบอำนาจผู้ตรวจการแผ่นดิน

เรืองไกร ร้องอีก ยื่นศาล รธน. ตรวจสอบอำนาจผู้ตรวจการแผ่นดิน

จากปัญหาข้อบังคับรัฐสภาที่ รัฐสภามีมติว่าไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ซ้ำได้ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา แต่ก็มีหลายเสียงโต้ว่าไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ เพราะการเสนอชื่อแคนดิเดตไม่ใช่ญัตติ ก่อนที่วานนี้ (24 ก.ค. 2566) ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติส่งเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความเรื่องนี้แล้ว

ทว่าล่าสุด เช้าวันนี้ (25 ก.ค. 2566) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพลังประชารัฐ ได้เปิดเผยว่า กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 มาตรา 159 และมาตรา 272 นั้น

นายเรืองไกร กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นมาจากความเห็นของนักกฎหมายจำนวนมาก และผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นด้วย แต่หากพิจารณาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 แนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 กรณี จึงมีประเด็นที่ควรขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ ดังนี้

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่และอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 มาตรา 159 และมาตรา 272 โดยการกล่าวรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 หรือไม่ อย่างไร

การกล่าวอ้างถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 มาตรา 159 มาตรา 272 นั้น เป็นกรณีเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ใช่หรือไม่ รัฐสภาต้องเป็นผู้ทำหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญ ใช่หรือไม่

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีปัญหาเกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา หรือไม่ อย่างไร

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีสิทธิจะขอให้ศาลดำเนินการตามมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ได้หรือไม่

การมีมติให้ดำเนินการดังกล่าวของผู้ตรวจการแผ่นดิน ชอบหรือไม่

ทั้งนี้ นายเรืองไกร ยังกล่าวอีกว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญหลายมาตรา กฎหมายหลายฉบับหลายมาตรา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญย่อมรู้เอง เพราะเคยวินิจฉัยกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้วินิจฉัยหลายครั้งแล้ว

วันนี้ ตนจึงได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ตรวจสอบว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่และอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 มาตรา 159 และมาตรา 272 โดยอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 หรือไม่ อย่างไร

เรียบเรียง siamnews

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ