เตือนเฝ้าระวัง พายุเข้าไทย เตรียมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

เตือนเฝ้าระวัง พายุเข้าไทย เตรียมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ออกหนังสือ เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยระบุว่า

ตามประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 9/2566 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ประกอบกับ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศ เรื่อง พายุดีเปรสชัน ฉบับที่ 2 พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีแนวโน้มทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำและขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 18 - 19 กรกฎาคม 2566 และในช่วงวันที่ 16-20 กรกฎาคม 2566 ร่องมรสุมกำลังแรงจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน

และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทั้งนี้ กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณต้นน้ำจากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ในช่วงวันที่ 18 - 21 กรกฎาคม 2566 เพิ่มเติมจากประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 9/2566 ดังนี้

1. ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอแม่แจ่ม จอมทอง ฮอด และอมก๋อย)

จังหวัดน่าน (อำเภอนาน้อย)

จังหวัดอุตรดิตถ์ (อำเภอฟากท่า)

จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอเนินมะปราง และวังทอง)

และจังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ หล่มสัก วิเชียรบุรี และบึงสามพัน)

2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดหนองคาย (อำเภอสังคม โพธิ์ตาก และท่าบ่อ)

จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอพรเจริญ ศรีวิไล โซ่พิสัย และเมืองบึงกาฬ)

จังหวัดสกลนคร (อำเภอกุสุมาลย์ วานรนิวาส คำตากล้า บ้านม่วง และอากาศอำนวย)

จังหวัดเลย (อำเภอนาด้วง และปากชม)

จังหวัดหนองบัวลำภู (อำเภอสุวรรณคูหา และนากลาง)

จังหวัดอุดรธานี (อำเภอทุ่งฝน หนองหาน พิบูลย์รักษ์ น้ำโสม นายูง บ้านผือ และกุดจับ)

จังหวัดนครพนม (อำเภอปลาปาก เรณูนคร นาแก เมืองนครพนม และธาตุพนม)

จังหวัดมุกดาหาร (อำเภอดงหลวง)

จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอคอนสวรรค์ หนองบัวแดง และแก้งคร้อ)

จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอวารินชำราบ นาจะหลวย เดชอุดม สำโรง น้ำยืน ทุ่งศรีอุดม น้ำขุ่น สิรินธร พิบูลมังสาหาร และเมืองอุบลราชธานี)

จังหวัดนครราชสีมา (อำเภอปากช่อง)

จังหวัดบุรีรัมย์ (อำเภอกระสัง)

จังหวัดสุรินทร์ (อำเภอสังขะ ศีขรภูมิ ลำดวน เมืองสุรินทร์ เขวาสินรินทริ์ บัวเชด และศรีณรงค์)

จังหวัดศรีสะเกษ (อำเภอขุขันธ์ ภูสิงห์ ปรางค์กู่ เมืองศรีสะเกษ กันทรารมย์ อุทุมพรพิสัย ยางชุมน้อยน้ำเกลี้ยง โนนคูณ พยุห์ กันทรลักษ์ วังหิน เบญจลักษ์ ศรีรัตนะ ราศีไศล และไพรบึง)

3. ภาคกลาง จังหวัดกาญจนบุรี (อำเภอทองผาภูมิ และสังขละบุรี)

จังหวัดสระบุรี (อำเภอแก่งคอย มวกเหล็ก และวิหารแดง)

4. ภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี แหลมสิงห์ นายายอาม และเขาคิชฌกูฏ)

จังหวัดตราด (อำเภอแหลมงอบ และเขาสมิง)

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมือง ที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน

2. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ