โหวตนายกฯ ครั้งที่2 19 ก.ค. นี้ ลุ้นเสนอชื่อ พิธา ได้อีกครั้งหรือไม่

โหวตนายกฯ ครั้งที่2 19 ก.ค. นี้ ลุ้นเสนอชื่อ พิธา ได้อีกครั้งหรือไม่

เมื่อวันที่ 14 กรกฏาคม 66 สำนักข่าวดัง รายงานว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันว่า การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาเลือกผู้สมควรรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือ โหวตนายกฯครั้งต่อไป จะมีขึ้นตามกำหนดเวลาเดิมที่เคยนัดหมายไว้ คือวันที่ 19 ก.ค. ที่จะถึงนี้ แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า จะเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นบุคคลผู้สมควรรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 ได้หรือไม่ หลังจากที่ประชุมมีมติไม่เห็นชอบให้ พิธา ดำรงตำแหน่งไปแล้ว ในการโหวตนายกฯเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา ซึ่งต้องดูข้อบังคับ และรัฐธรรมนูญ รวมถึงความเห็นของที่ประชุมในคราวหน้าเสียก่อน

พลิกดูรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 156 กำหนดเรื่องการประชุมร่วมกันของรัฐสภาไว้ในวงเล็บ 16 เรื่องอื่นๆ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งบทเฉพาะกาลมาตรา 272 กำหนดให้การเลือกนายกรัฐมนตรีภายใน 5 ปีแรก นับตั้งแต่มีรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญนี้ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในขณะที่ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อที่ 41 มีเนื้อหาว่า ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ยังมิได้มีการลงมติหรือญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป

ปัญหาจึงต้องพิจารณาว่า การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อโหวตนายกฯ ตามบทเฉพาะกาล รัฐธรรมนูญมาตรา 272 เป็นการพิจารณาญัตติ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหรือไม่ เจษฎ์ โทณะวนิก นักวิชาการด้านกฎหมายให้ความเห็นว่า เรื่องสำคัญขนาดนี้ เปรียบเทียบได้กับการเลือกประธานสภา ซึ่งดำเนินการต่อได้หากยังคงไม่ได้ข้อยุติ การเสนอชื่อ พิธา ให้ที่ประชุม โหวตนายกฯ อีกครั้ง ไม่ได้มีข้อห้ามแต่ขึ้นอยู่กับที่ประชุมรัฐสภาว่าจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ