ตำรวจแฉกลโกง SMS ดูดเงิน แทรกมาในข้อความ ธนาคารจริง

ตำรวจแฉกลโกง SMS ดูดเงิน แทรกมาในข้อความ ธนาคารจริง

วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 เพจเฟซบุ๊ก สืบนครบาล IDMB ได้โพสต์เตือนภัย กลโกงใหม่ ที่กำลังระบาดอย่างหนัก คือการปลอม SMS แบบไม่ผ่านเครือข่ายมือถือ ซึ่งในปัจจุบันมีเหยื่อหลงกลถูกหลอกไปแล้วกว่า 50 ราย

โดยวิธีการของคนร้ายคือการส่งข้อความ SMS มาในช่องเดียวกับของธนาคาร เสมือนเป็นการส่งมาจากคนเดียวกับชนิดที่แยกแทบไม่ออก จนทำให้ผู้รับถึงกับงงว่าเกิดอะไรขึ้น? ทำไมข้อความของมิจฉาชีพ ถึงมาโผล่ใน SMS ที่ใช้ชื่อธนาคาร ซึ่งอธิบายง่าย ๆ ดังนี้

- ข้อความในกรอบสีแดง เป็นข้อความ SMS ที่ส่งมาจากมิจฉาชีพ ส่วนข้อความอื่น ๆ ในภาพคือข้อความ SMS ของจริงที่ส่งมาจากธนาคาร

- การส่งแบบนี้ มิจฉาชีพจะใช้เครื่องมือชื่อว่า False Base Station หรือ FBS ที่สามารถส่ง SMS ไปหาเหยื่อ โดยสามารถปลอมชื่อให้เหมือนกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้

- การส่งข้อความลักษณะนี้ไม่ได้ส่งผ่านเครือข่ายมือถือ ดังนั้นค่ายมือถือจึงไม่รู้เรื่องด้วย และการแนบลิงก์มาด้วยเพื่อหลอกให้เหยื่อคลิกลิงก์ดังกล่าว เพราะเชื่อว่ามาจากธนาคารจริง

- สำหรับอุปกรณ์ FBS นี้จะมีลักษณะเป็นกล่อง มีเทคโนโลยีสามารถจำลองตนเองเป็นเครือข่ายหนึ่ง เมื่อมีเป้าหมายเข้ามาใกล้อุปกรณ์ดังกล่าวโทรศัพท์มือถือจะหลุดจากเครือข่ายโอเปอเรเตอร์เพียงเสี้ยววินาที และไปจับสัญญาณกับ FBS แทน เพื่อส่ง SMS ปลอมไปยังเป้าหมายโดยไม่ทันได้สังเกต

- อุปกรณ์ FBS เป็นอุปกรณ์เคลื่อนที่ ที่สามารถพกพาไปที่ไหนก็ได้ แต่เดิมเครื่องมือดังกล่าวถูกใช้งานโดยตำรวจต่างประเทศ ในการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพ

- กลโกงและเทคนิค FBS ของมิจฉาชีพเคยระบาดและเกิดขึ้นแล้วที่จีนเมื่อปี 2557 มีการพบอุปกรณ์ดังกล่าวจำนวน 1,500 สถานี ซึ่งขณะนั้นมีผู้ต้องสงสัย 3,540 คน และจับดำเนินคดีได้ 1,330 คน โดย FBS เริ่มเข้ามาแพร่ระบาดในไทยเมื่อช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา

วิธีการป้องกัน ไม่ให้ถูกหลอกด้วย SMS แบบนี้คือ ต้องทราบว่าปัจจุบัน ธนาคารยกเลิกส่งลิงก์ผ่านทาง SMS แล้ว หากมีลิงก์ส่งมาจากข้อความที่อ้างว่ามาจากธนาคาร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนได้เลยว่า มาจากมิจฉาชีพ

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก สืบนครบาล IDMB

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ