ขอพร ท้าวเวสสุวรรณ วัดแจ้ง เมืองเก่า

ขอพร ท้าวเวสสุวรรณ วัดแจ้ง เมืองเก่า

สำหรับใครที่ชีวิตติดขัด ทำอะไรไม่ราบรื่น อยากจะหาที่พึ่งทางใจ วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับ วัดแจ้ง เมืองเก่า ตำบลประจันตคาม อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี เมืองประจันตคามในอดีต สมัยก่อนนั้น สถานที่ตั้งวัดในปัจจุบัน เป็นป่าดงรกร้างอยู่มานาน จนกระทั่งมาเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๓๗๖ ท้าวอุเทน บุตรท้าวสร้อย เพียเมืองแสนได้รวบรวมกำลังไพร่พลจากเวียงจันทน์ และเลข บ่าวไพร่ มาตั้งเมืองขึ้นที่ บ้านดงยาง ซึ่งอยู่ที่หมู่ที่ ๑ ตำบลประจันตคาม (บ้านเมืองเก่าในปัจจุบันนี้) ท่านได้รับการ พระราชทานสัญญาบัตรจาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นหลวงภักดีเดชะ เจ้าเมืองประจันตคาม ปกครองให้ ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ให้มีสงบร่มเย็น

กำเนิดวัดแจ้ง

ชาวประชาราษฎร ก็เริ่มช่วยกันสร้างบ้าน แปลงเมือง จับจองที่ดินปลูกบ้านเป็นที่อยู่อาศัย และยึดอาชีพปลูกผัก และการทำนาข้าวเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเรื่อยมา พร้อมกันนั้นก็ได้ตั้งวัดขึ้น เพื่อเป็นวัดประจำเมือง ตามแบบของชาวพุทธ ที่ว่าเมื่อไปอยู่ที่ไหน ก็จะสร้างวัดขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์รวม และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน โดยตั้งชื่อให้ว่า “วัดแจ้ง” แล้วนิมนต์ หลวงพ่อคำหล้า สญฺโญ ซึ่งเป็นพระที่มากับคณะจากเวียงจันทน์ ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสรูปแล้ว ดูแลและพัฒนาวัด โดยเริ่มตั้งแต่สร้างกุฏิเป็นที่อยู่จำพรรษามาเป็นลำดับจนถึง ปี พ.ศ.๒๓๗๘ วัดแจ้งจึงได้มีการพัฒนามาจนเสนาสนะเกือบครบถ้วนบริบูรณ์

ที่มาของชื่อวัด

เจ้าอาวาสรูปแล้วนั้นมีลักษณะเป็นผู้นำอย่างยวดยิ่งในการพัฒนาวัด พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชน ตามประวัติเล่าว่า ท่านเป็นชาวเวียงจันทน์ ที่มีคุณธรรม และเก่งฉมังทางด้านคาถาอาคมสูง จึงเป็นที่น่านับถือของท้าวอุเทน และชาวบ้าน แถบนั้นมาก มีความวิระยะอุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง ในการพัฒนาบุกเบิกป่าดง ให้เป็นวัดขึ้นมา และที่ได้ชื่อว่าวัดแจ้งนั้น มีคนเก่าคนแก่เล่าว่า ท้าวอุเทน ท้าวฟอง และท้าวอินทร์ ทั้ง ๓ ท่าน ได้อพยพครอบครัวเลขและบ่าวไพร่ลงมาจากเมืองเวียงจันทน์ แล้วมาสว่างตรงนี้พอดี จึงได้ตั้งชื่อว่า วัดแจ้ง(ภาษาลาว แปลว่า สว่าง, รุ่งอรุณ)

เมืองเก่า เมืองใหม่ นี่เป็นสาเหตุให้ตั้งชื่อว่า วัดแจ้ง มาจนทุกวันนี้ ส่วนที่เรียกเมืองเก่านั้น เพราะว่าท้าวอุเทน เดิมได้ตั้งเมืองอยู่ที่ หมู่ที่ ๑ตำบลประจันตคาม ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดในปัจจุบันแต่ภายหลังมีความคิดว่าที่ตั้งของเมืองเดิมไม่เหมาะสม จึงได้ย้ายเมือง จากที่เดิมไปตั้งเมืองขึ้นใหม่ อยู่ที่บ้านเมืองใหม่ จนเป็นชื่อที่ใช้เรียกขานกันจนถึงปัจจุบัน และต่อมาได้ตั้งวัดประจำเมืองขึ้นอีก โดยตั้งชื่อว่า วัดทัพช้าง (เมืองใหม่) ขึ้นอีก ที่เรียกเช่นนั้นก็เพราะเป็นที่พักของช้าง ในครั้งที่ยกทัพมาจากเมืองเวียงจันทน์ บ้าง ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ได้อพยพกวาดต้อนราษรจากเขมรมาบ้าง

ยกฐานะเป็นวัดตามกฎหมาย ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๔วัดแจ้ง (เมืองเก่า) จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นวัดโดยสมบูรณ์ตามกฎหมาย จนมาถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ทางวัดได้เริ่มก่อสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ และขอ ผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิตในช่วงประมาณเดือน กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้รับพระราชทนวิสุงคามสีมา จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ ได้ประกอบพิธี ผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต เพื่อให้ถูกต้องตาม พระบรมพุทธานุญาต เมื่อ วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๘

ผู้อุปถัมภ์วัด บุคคลผู้ที่ให้ความอุปถัมภ์วัดตั้งแต่เริ่มแรกคือ พระภักดีเดชะ (ท้าวอุเทน) ท่านมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เป็นอย่างมากท่านหนึ่ง และดำรงตนตามคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด โดยได้ให้ความอุปถัมภ์พระภิกษุสามเณรเป็นอย่างดี นำพาชาวบ้านฟังธรรม รักษาศีล อยู่เป็นประจำทุกเช้าของวันพระ จนกระทั่งวาระสุดท้ายชีวิตและขณะนี้สรีระร่างของท่านก็ได้บรรจุอยู่ที่ ศาลพระภักดีเดชะ (ท้าวอุเทน) ซึ่งอยู่ภายในบริเวณวัดแจ้ง

ส่วนการให้ความอุปถัมภ์วัด ในกาลต่อมา เป็นหน้าที่ของทายกทายิกา ที่มีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา จนมีความเจริญรุ่งเรืองสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ วัดแจ้ง (เมืองเก่า) นับว่าเป็นวัดที่มีความเก่าแก่ เพราะเป็นวัดแรกของอำเภอประจันตคาม และมีความสำคัญกับบ้านเมืองยิ่งวัดหนึ่ง อายุนับได้ประมาณ ๑๘๓ ปี(๒๕๕๙ – ๒๓๗๖) มีเจ้าอาวาสมาแล้วถึง ๑๒ รูปแต่ละรูปต่างก็ได้ทำนุบำรุงวัด และเผยแพร่คำสอนขององสัมมาสัมพุทธเจ้า แก่ประชาชนด้วยดีตลอดมา

และที่วัดแจ้ง มีท้าวเวสสุวรรณองค์ใหญ่ ผู้คนต่างก็มากราบไหว้ทุกวันไม่ขาด บางคนมาขอพรให้สมหวังสำเร็จก็กลับมาไหว้อีก

บางคนมาล้วงไหขอโชค ลาภ

ขอบคุณ ประวัติวัดแจ้ง จาก gotoknow และภาพจาก Pias Tanyalak

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ