สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันวิสาขบูชา

สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกนิกายทั่วโลก ทั้งเป็นวันหยุดราชการในหลายประเทศ และวันสำคัญในระดับนานาชาติตามข้อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในศาสนาพุทธ 3 เหตุการณ์ด้วยกัน

คือ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระโคตมพุทธเจ้า โดยทั้งสามเหตุการณ์ได้เกิด ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ ต่างปีกัน ชาวพุทธจึงถือว่า เป็นวันที่รวมเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ยิ่งวันนี้ 15 พ.ค.2565 เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันวิสาขบูชา 15 พ.ค. 2565 ความว่า ดิถีวิสาขบูชา คล้ายดีถีประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่ง จึงควรที่พุทธบริษัททั้งหลาย จักได้พร้อมเพรียงกันประกอบกุศลกิจ กระทำสักการบูชาพระรัตนตรัย ทั้งด้วยอามิสบูชา

ทั้งด้วยปฏิบัติบูชา เป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้วยการอบรมศึกษาพระธรรม ให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นสาวก ซึ่งแปลว่าผู้สดับตรับฟังคำสั่งสอนของศาสดา วันวิสาขบูชา เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระปัจฉิมวาจา ซึ่งพระพุทธองค์ทรงพระปรารภสรุปธรรมทั้งปวง ตักเตือนให้ตระหนักอยู่ทุกขณะจิตว่า

สังขารทั้งหลายมีความสลายไปเป็นธรรมดา บุคคลจึงพึงยัง ความไม่ประมาท ให้ถึงพร้อม ทั้งนี้ ธรรมะที่ช่วยกำกับใจให้รู้จักปล่อยวางและกำกับปัญญา กล่าวคือ ไม่ปล่อยปละให้ปัญญานำกายถลำลงสู่ความประมาท ย่อมได้แก่ สติ อันอุปมาดั่งนายประตู

คอยป้องกันไม่ให้ความชั่วหรือความผิดพลาดอาจจู่โจมเข้าสู่ภายใน เพราะฉะนั้น ผู้ปรารถนาความพ้นทุกข์ จึงพึงเพิ่มพูนความไม่ประมาททั้งทางโลกและทางธรรม หมั่นเจริญพุทธานุสติเป็นอาจิณ โดยสำนึกเสมอว่า แม้สมเด็จพระบรมศาสดาผู้ทรงพระคุณเป็นเลิศในโลก

ยังเสด็จดับขันธ์ไปตามธรรมดาของสังขาร ฉะนั้น เราทั้งหลายผู้มีธุลีในตา ไม่อาจหยั่งรู้ได้ว่าความจากไปจะมาถึงเมื่อไร จึงควรขวนขวายบำเพ็ญบุญกิริยา ด้วยการบริจาคทาน รักษาศีล และอบรมเจริญภาวนา เพื่อประโยชน์สุขในปัจจุบันและในเบื้องหน้า

สมดังพระพุทธานุศาสนีที่ว่า อปฺปมตฺโต หิ ฌายนฺโต ปปฺโปติ วิปุลํ สุขํ แปลความว่า ผู้ไม่ประมาทพินิจอยู่ ย่อมถึงสุขอันไพบูลย์ ในทุกสถาน ขอสาธุชนจงมุ่งมั่นหมั่นศึกษาอบรมเจริญสติ ให้รู้เท่าทันกาย วาจา

และใจของตนเอง ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท อันนับเป็น ปฏิบัติบูชา ที่พึงกระทำต่อพระรัตนตรัย เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบไป ตลอดกาลนาน เทอญ.

เรียบเรียงโดย ทีมงาน siamnews

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ