คณะนักโบราณคดีกรมศิลปากรลงพื้นที่สำรวจแหล่งเตาโป่งแดง อ.พาน

คณะนักโบราณคดีกรมศิลปากรลงพื้นที่สำรวจแหล่งเตาโป่งแดง อ.พาน

22 เม.ย.65 เวลา 13.00 น.นายธนัท อธิภัทรกุล รองปลัดอบต.ทรายขาวนำคณะสำรวจทางโบราณคดีประกอบด้วย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ นักโบราณคดีอิสระอดีตข้าราชการกรมศิลปากร ,นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ และคณะลงพื้นที่สำรวจเตาเมืองพานหรือโป่งแดง บริเวณเนินดินขนาดใหญ่กลางทุ่งนาบ้านหนองผักจิก หมู่ที่ 4 ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย และศูนย์ทรายขาวศึกษา พิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา เตาพาน ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนท่าฮ่อ บ้านท่าฮ่อ หมู่ที่ 6 ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย เพื่อรวบรวมข้อมูลทางวิชาการศึกษาแหล่งโบราณสถานทางประวัติศาสตร์เตาพานหรือเตาโป่งแดง สนับสนุนพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ล้านนาโบราณ

บริเวณเนินดินขนาดใหญ่กลางทุ่งนาบ้านหนองผักจิก หมู่ที่ 4 ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย เป็นที่ตั้งของเตาโบราณจำนวน 14 เตา ทางกรมศิลปากรได้ดำเนินการสำรวจและขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.2504 เป็นเนื้อที่รวมกว่า 100 ไร่ เตาโบราณนี้ตั้งอยู่บนโคกหรือเนินดินกลางท้องนา มีต้นไม้ปกคลุมอยู่ทั่วไป

เบื้องต้นพบเตา 4 แหล่ง คือ เตาดอยสันป่าสัก เตาดอยสันธาตุ เตาบ้านจำปูน เป็นเตายุคเดียวกับที่พบที่สุโขทัยและที่เวียงกาหลง แต่มีขนาดเล็กกว่าที่สุโขทัย จากการขุดค้นที่แหล่งเตาเผาเครื่องปั้นดินเผา ได้พบ ถ้วย จาน ชาม คนโท ตะเกียงหรือประทีป กระปุกกาน้ำรูปหงส์ ฯลฯ ส่วนประทีปมักทำเป็นรูปสัตว์ต่างๆเช่น ช้าง ม้า วัว โดยมีถ้วยเล็กๆตั้งบนหลังสัตว์เหล่านั้น เพื่อใช้ใส่ของหรือน้ำมัน เครื่องถ้วยชามเหล่านี้มักเคลือบน้ำยาสีเขียงอ่อนใสเคลือบทั้งด้านนอกและด้านใน

นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาแหล่งโบราณสถานเตาโป่งแดง ว่าบริเวณเตาโป่งแดงหรือเตาพาน โดยกรรมสิทธิ์ของพื้นที่เป็นพื้นที่ไม่ได้มีโฉนดของเอกชนกับมีการประสานเรื่องทะเบียนโบราณสถานอยู่แล้ว แนวทางการพัฒนาคือ มันไม่ได้ยากอะไรในเรื่องกรรมสิทธิ์การจัดการ อย่างแรกที่น่าทำคือถากถางวัชพืชก่อน เพราะการจะพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ต่อได้เราจำเป็นต้นรู้ก่อนว่าตัวโบราณสถานอยู่ตรงไหนบ้าง

ข้อหนึ่ง เพื่อที่เราจะได้ดำเนินการ ขุดค้น ขุดแต่ง จะรู้ว่ามีเนินตรงไหน ข้อสอง ถ้าหากจะพัฒนาพื้นที่ การก่อสร้างอื่นๆ เช่นอาคารสาธารณะสาธารณูปโภคต่างๆก็จะไม่ได้ไปทับจุดที่เป็นโบราณสถาน ฉะนั้นถ้าถากถางวัชพืชก่อนก็จะเห็นโคกเนินต่างๆ ต่อมาก็จะใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์เข้าช่วย มีเครื่องสแกน GPR กราวน์เอนเนอร์เจนซิ่งเรดาร์ สแกนทางธรณีวิทยา สะท้อนค่าสัญญาณกลับขึ้นมาว่าพื้นที่ตรงไหนเป็นโครงสร้างอิฐ พอเรารู้เราก็จะแม็ปปิ้งจุดต่างๆ ต่อมาก็จะมาวางแผนพื้นที่ว่าจะขุดเนินไหน ขึ้นมาโชว์โครงสร้างตรงนี้

นายธนัท อธิภัทรกุล รองปลัดอบต.ทรายขาว กล่าวว่าจุดโบราณสถานเตาพานหรือเตาโป่งแดงนี้ จะเป็นจุดที่จะมีการพัฒนาต่อมาภายหลังจากที่มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์ พระญามังรายหลวง บริเวณพื้นที่ 27 ไร่ติดถนนพหลโยธินขาล่อง ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลกับเตาเผาโป่งแดงเพียงกิโลเมตรเศษ ให้เป็นเส้นทางเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับอนุสาวรีย์พระญามังรายหลวง

ข่าวโดย ณัฐวัตร ลาพิงค์ ผู้สื่อข่าวสยามนิวส์ จังหวัด เชียงราย

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ