ผู้พันเบิร์ด เทิดทูน ในหลวงร.9 ประดุจดั่ง สมเด็จพระนเรศวร

ผู้พันเบิร์ด เทิดทูน ในหลวงร.9 ประดุจดั่ง สมเด็จพระนเรศวร

วานนี้ (14 ต.ค.2564) พ.อ.วันชนะ สวัสดี รองโฆษกกระทรวงกลาโหม ได้เปิดใจเล่าว่า จากเรื่องเล่าหลังพระบรมโกศ เมื่อทราบความจริงทั้งหมด ยิ่งทำให้รู้ว่า ที่คิดว่ารู้นั้น..รู้น้อยมาก ที่คิดว่ารักนั้นรักน้อยอยู่ ที่คิดว่าภักดีนั้นคงไม่พอ

"ผมเห็นโต๊ะที่ต่างไปจากงานพิธีตัวหนึ่ง ตั้งอยู่หลังหีบพระบรมศพ ก็ได้เรื่องดี ๆ เป็นกำลังใจ เรื่องนี้ผมได้รู้ว่า พระองค์ทำเพื่อคนไทยมาตลอดแม้ลมหายใจสุดท้ายของพระองค์ หลายคนที่ขึ้นไปถวายบังคมพระบรมศพบน แม้จะได้ขึ้นไปกราบเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ หลังจากที่รอต่อแถวเป็นหลายชั่วโมง เป็นวันก็มี

ผมและครอบครัวคือหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่โชคดีที่มีโอกาสได้ไปซึมซับบรรยากาศครั้งนั้น เพียงเมื่อเดินก้าวเข้าไปในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ผมได้พยายามเก็บภาพจำและนึกถึงความรู้สึกในช่วงเวลานั้นเพื่อเก็บไว้กับตัวเองให้ครบถ้วนมากที่สุด

เมื่อก้มกราบเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางเจ้าพนักงานให้เดินออกไปทางขวา และในระหว่างที่เดินออก ผมได้มองเห็นด้านหลังพระบรมโกศ ที่มีหีบพระบรมศพตั้งอยู่ พื้นที่บริเวณนั้นถูกจัดเป็นระเบียบ มีโต็ะตัวหนึ่งตั้งอยู่ เป็นโต๊ะที่แตกต่างจากงานพระราชพิธี เห็นมีของตั้งอยู่บนโต๊ะด้วย

ด้วยความสงสัย เมื่อลงไปใส่รองเท้าเสร็จแล้ว จึงกลับไปสอบถามทางเจ้าพนักงาน และสืบค้นจากพี่ ๆ ที่รู้จักในภายหลังได้ความว่า

โต๊ะนี้เป็นโต๊ะทรงงานของพระองค์ บนโต๊ะมีแผนที่ แว่นขยาย ดินสอ ใต้โต๊ะมีกระเป๋าหนังสือน้ำตาล 1 ใบ

แผนที่บนโต๊ะนั้นเป็นระวาง จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เป็นฉะเชิงเทราเพราะว่าพระองค์กำลังวางแผนทำแก้มลิงเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมบริเวณภาคตะวันออกในปี 2555 แต่พระองค์ประชวรเสียก่อน เลยไม่ได้กลับมานั่งโต๊ะทรงงานนี้อีก

เหตุเพราะเมื่อปี 2554 น้ำท่วมหนักมาก พระองค์ทรงกลัวว่าถ้าท่วมอีก เศรษฐกิจจะแย่ ประชาชนจะลำบากหนัก จึงพยายามวางแผนทำแก้มลิงให้ภาคตะวันออก

ภาพจำที่คนไทยทั้งประเทศคุ้นตา คือภาพที่พระองค์ออกมาประทับที่ระเบียงของ โรงพยาบาลศิริราช เพื่อทอดพระเนตรระดับน้ำและการไหลของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งแสดงให้เราทุกคนเห็นถึงความตั้งพระทัยอันแน่วแน่ในการที่จะแก้ไขปัญหาน้ำให้กับชาวไทย ตราบจนกระทั่งวันที่ พระองค์เสด็จสวรรคต

ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวมานี้เอง จึงทำให้ผมนึกย้อนกลับไปถึง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่พระองค์ทรงยกทัพ ขึ้นไปทางเหนือเพื่อที่จะไปปราบอังวะในปี 2148 แต่พระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อน

การสร้างความเป็นปึกแผ่นของแผ่นดินอโยธยาในตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นเฉกเช่นเดียวกับที่ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้กับประชาชนชาวไทย

จึงเกิดเป็นพืชพันธ์ธัญญาหารและป่าไม้ พระองค์ก็ได้พระราชทานแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำ พื้นที่ที่อยู่อาศัย เพื่อให้เกิดเป็นความมั่นคงในความเป็นอยู่อาศัยของประชาชนและการประกอบอาชีพสืบมาหลังจากนั้น

เมื่อพวกเราได้สร้างหมู่บ้านตัดถนนขวางทางน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมโดยเฉพาะน้ำไหลเข้าท่วมในเขตเศรษฐกิจ พระองค์จึงได้ทำการบริหารจัดการน้ำผ่านโครงการแก้มลิง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเหล่านั้นไหลเข้าท่วมพื้นที่เขตเศรษฐกิจ เราทุกคนจึงได้ใช้น้ำอย่างมีความสุข หลังจากที่ใช้น้ำกลายเป็นน้ำเสียแล้ว พระองค์ก็ยังตามมาแก้ไขปัญหาน้ำเสียผ่านโครงการกังหันชัยพัฒนาอีกด้วย

จึงสามารถเรียกได้ว่า พระองค์นั้นให้น้ำจากฟากฟ้า จนถึงตามมาบำบัดน้ำเสียให้กับพวกเรา โดยภาพที่แสดงการทรงงานเรื่องน้ำ ของพระองค์ที่อธิบายภายในภาพเดียวคือภาพที่ชื่อ "จากนภาผ่านภูผา สู่มหานาที

ในเรื่องของเขื่อนนี้ จะพูดว่าป้องกันน้ำแล้งแต่เพียงเท่านี้คงจะไม่ใช่ เพราะเรื่องของเขื่อนนี้เป็นเรื่องของการบริหารจัดการน้ำของทั้งประเทศ เพราะนอกจากเขื่อนจะช่วยเก็บกักน้ำไว้ใช้ในยามหน้าแล้ง ยังช่วยป้องกันน้ำท่วมและสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ดินอีกด้วย

แต่ปัจจุบันที่น้ำยังคงท่วมนี้ ก็เป็นเพราะการตัดถนนและการสร้างหมู่บ้าน รวมถึงการบุกรุกพื้นที่ป่าเป็นสำคัญ นอกจากนี้ประโยชน์ของการบริหารจัดการน้ำ คือการใช้น้ำจืดผลักดันน้ำเค็ม ที่หนุนสูงบริเวณปากแม่น้ำด้วย นั่นหมายความว่าเป็นการรักษาสภาวะแวดล้อมป่าชายเลนและยังมีส่วนสำคัญกับเรื่องของการผลิตน้ำประปาในบริเวณจังหวัดที่อยู่บริเวณปากแม่น้ำอีกด้วย

ความเป็นนักปราชญ์ของพระองค์กี่ประการหนึ่ง

คือพระองค์ยังเป็นผู้ที่นำหลักวิชาการที่ยากหลายหลักวิชามารวมกัน และคิดออกมาเป็นการปฏิบัติที่ง่ายเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้โดยกว้างขวาง เช่น การขุดบ่อน้ำให้ลึก 5 เมตร มีที่มาจากการที่พระองค์ได้ทำการทดลองวิจัยและสังเกตว่าน้ำบนผิวดินนั้นจะละเหยวันละ 1 เซนติเมตร ในประเทศไทยจะมีฝนตก โดยเฉลี่ยประมาณ 50 วันและฝนจะไม่ตก 300 วัน นั่นหมายความว่าถ้าเราขุดบ่อลึก 3 เมตร น้ำจะมีใช้ไม่เพียงพอตลอดทั้งปีนั่น เป็นที่มาของการที่พระองค์ได้ให้แนวคิดในการขุดบ่อมีความลึก 5 เมตร จึงจะเพียงพอต่อการใช้น้ำตลอดทั้งปี อันนี้กล่าวได้ว่าเป็นความอัจฉริยภาพและเป็นนักปราชญ์ในเรื่องน้ำอย่างแท้จริง

ในวันที่ 13 ตุลาคม ผมได้มีโอกาสกลับมารำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระองค์ ที่บริเวณอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ด้วยความรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาที่คุณของพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์นี้ มีความคล้ายคลึงกันในการทรงงานเพื่อแผ่นดินตลอดพระชนม์ชีพ ด้วยความกล้าหาญเสียสละอย่างแท้จริง

อีกทั้ง ภาพจำของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่เสด็จมาที่ทุ่งมะขามหยอง บริเวณอนุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เพื่อมาทอดพระเนตรทุ่งมะขามหย่องแห่งนี้

ผมยังจดจำเนื้อหาใจความ ที่พระองค์ได้บอกว่า การที่น้ำท่วมทุ่งมะขามยองนี้ ถือเป็นเรื่องธรรมชาติและท่วมทุกปีและก็เป็นประโยชน์ในการป้องกันการรุกรานจากฝ่ายข้าศึก ซึ่งถ้าสามารถเก็บน้ำที่ท่วมทุ่งมะขามหย่องนี้นำไปใช้ในหน้าแล้งก็จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก การเสด็จฯ ในครั้งนั้นเป็นภาพจำของประชาชนทั้งประเทศ โดยเฉพาะประชาชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะนั่นเป็นช่วงปลายของพระชนม์ชีพที่น้อยครั้งนักที่พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปต่างจังหวัด และการเสด็จฯ ในครั้งนั้นฉลองพระองค์ในชุดทหารรบพิเศษ เฉกเช่นเดียวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ฉลองพระองค์ในชุดรบเพื่อออกไปทำการรบเช่นเดียวกัน"

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ