
ตื่นตา พืชหายากหายเงียบ 113 ปี ปรากฏโฉมในป่าดิบเชียงราย
เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา ได้มีรายงานบนเฟซบุ๊ก สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ได้โพสต์ข้อความเปิดเผยข่าวน่ายินดีถึงการค้นพบพืชหายากที่เคยเงียบหายไปจากบันทึกโลกนานถึง 113 ปี กลับมาปรากฏอีกครั้งบนผืนแผ่นดินไทย โดยพืชชนิดนี้คือ Heterostemma brownie Hayata ซึ่งพบโผล่กลับมาอย่างสง่างาม ท่ามกลางพรมมอสเขียวขจีในผืนป่าดิบ จังหวัดเชียงราย นับเป็นการกลับมาปรากฏตัวอีกครั้งในรอบกว่าศตวรรษ และเผยแพร่ให้สาธารณชนไทยได้รับรู้เป็นครั้งแรกทางโลกโซเชียล
สำหรับพืชชนิดนี้ เคยมีรายงานพบเพียงใน ไต้หวัน จีน และเวียดนาม เมื่อราวปี พ.ศ. 2449 (ค.ศ.1906) ก่อนจะเงียบหายจากบันทึกของโลกพฤกษศาสตร์ไปนานนับร้อยปี กระทั่งในปี พ.ศ.2562 ทีมนักอนุกรมวิธานพืชจาก องค์การสวนพฤกษศาสตร์ (BGO) ได้ค้นพบอีกครั้งในป่าดิบของจังหวัดเชียงราย และมีการตีพิมพ์รายงานทางวิชาการอย่างเป็นทางการในปีถัดมา (พ.ศ.2563)
ลักษณะเด่นของพืชชนิดนี้ที่สะกดทุกสายตา ได้แก่ เป็นไม้เลื้อยเนื้ออ่อน มีน้ำยางสีขาว, ใบเรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปไข่ถึงรูปรี, ดอกสีเหลืองสด มีกลีบดอก 5 แฉกคล้ายดาว, กลีบดอกมีจุดประสีแดงทั่วทั้งแผ่นกลีบ, ส่วนกลางของดอกโดดเด่นด้วยกระบังรอบสีแดงเข้ม 5 แฉก รูปทรงคล้ายดาวทะเลที่สงบนิ่งอยู่ใต้ท้องทะเลลึก จัดอยู่ในวงศ์ Apocynaceae (วงศ์ดอกรัก) สถานภาพการอนุรักษ์ในปัจจุบัน ยังไม่ถูกจัดอันดับอย่างเป็นทางการ โดยพบในธรรมชาติ เฉพาะป่าดิบของจังหวัดเชียงราย ที่ความสูงราว 500 เมตรจากระดับน้ำทะเล ช่วงออกดอกอยู่ในฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ปัจจุบันพบใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน จีน เวียดนาม ไทย และลาว แต่มีจำนวนในธรรมชาติน้อยมาก
ข้อมูลนี้เผยแพร่โดย ดร.วรนาถ ธรรมรงค์ [W.Thammarong] นักอนุกรมวิธานพืช สำนักวิจัยและอนุรักษ์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ภาพถ่ายโดย Dr. Michele Rodda และอ้างอิงจากงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Thai Forest Bulletin (Botany) ฉบับปี 2020 (Thammarong, W., Rakarcha, S. & Rodda, M. 2020. Heterostemma brownii (Apocynaceae), a new record for Laos and Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 48(2): 114–117)
นอกจากนี้ ทางสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ยังเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันตั้ง ชื่อไทย ให้พืชหายากชนิดนี้ ซึ่งมีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นเสนอชื่อไทยที่มีความหมายไพเราะและสวยงามจำนวนมาก เช่น ดาวพิรุณสยาม, สยามดารากาญจน์, ดอกส้มสีทอง, ดาวธรรมรงค์, ดาวเชียงราย, พราวดาริกา, เวียงบุษดากร, เบญจดารารายณ์, ดาราราย, ดาราทอง, ดาวมะเฟือง และดาวบุษราคัม เป็นต้น
การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจของวงการพฤกษศาสตร์ไทย ที่ได้เห็นพืชหายากกลับมาเบ่งบานอีกครั้งบนผืนแผ่นดินไทยหลังจากห่างหายไปยาวนานกว่า 113 ปี