
เตือน! โควิดสายพันธุ์ใหม่ XFG แพร่เร็ว หลบภูมิเก่ง WHO เฝ้าระวังเข้ม
วันที่ 9 กรกฎาคม 2568 นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยความคืบหน้าเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 หลังจากเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2568 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้โควิด-19 สายพันธุ์ “XFG” เป็น สายพันธุ์ที่ต้องจับตา (Variant Under Monitoring) เนื่องจากพบว่ามีคุณสมบัติด้านการแพร่กระจายที่รวดเร็ว และสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลยืนยันแน่ชัดว่าสายพันธุ์ XFG ส่งผลให้เกิดอาการรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อื่น โดย XFG เป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน เกิดจากการผสมกันของสายพันธุ์ LF.7 และ LP.8.1.2 ตรวจพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2568 และมีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมในตำแหน่งโปรตีนส่วนหนาม (Spike protein) รวม 11 ตำแหน่ง ได้แก่ T22N, S31P, K182R, R190S, R346T, K444, V445R, F456L, N487D, Q493E และ T572I ซึ่งการกลายพันธุ์เหล่านี้ส่งผลต่อความสามารถของไวรัสในการแพร่กระจายและการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน
นพ.ยงยศ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ทั่วโลกพบว่าสายพันธุ์ XFG* มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่สายพันธุ์ NB.1.8.1* ยังคงเป็นสายพันธุ์หลักที่พบมากที่สุด แม้จะมีแนวโน้มลดลงก็ตาม ส่วนในประเทศไทย ตรวจพบสายพันธุ์ XFG* ครั้งแรกในเดือนเมษายน 2568 และจนถึงปัจจุบันมีรายงานสะสมแล้ว 23 คน
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังคงดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 เพื่อเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ โดยช่วงวันที่ 26 พฤษภาคม – 23 มิถุนายน 2568 ตรวจรหัสพันธุกรรมจากตัวอย่างจำนวน 236 คน พบว่า
- สายพันธุ์ NB.1.8.1* ร้อยละ 83.9
- สายพันธุ์ XFG* ร้อยละ 6.8
- สายพันธุ์ XEC* ร้อยละ 5.9
- และสายพันธุ์อื่น ๆ เช่น JN.1*, LP.8.1* ในสัดส่วนเล็กน้อย
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เผยแพร่ข้อมูลจีโนมของไวรัสเข้าสู่ฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนระบบเฝ้าระวังโรคในระดับโลก โดยตั้งแต่เริ่มการระบาดในไทยในเดือนมกราคม 2563 จนถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2568 ประเทศไทยได้เผยแพร่ข้อมูลจีโนมสะสมแล้วทั้งสิ้น 48,541 คน แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าสายพันธุ์ XFG* จะทำให้เกิดอาการรุนแรงขึ้น แต่ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังคงเน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด และหากมีอาการผิดปกติ เช่น ไข้ ไอ หรือหายใจลำบาก ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม