
GDP ซึมยาว ธปท. ห่วงเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง
วันที่ 9 กรกฎาคม 2568 นายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศนโยบายเก็บภาษีหลายประเทศทั่วโลก (Reciprocal Tariff) โดยไทยอาจถูกเก็บภาษีในอัตรา 36% ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ โดยจากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ประเมินกรณีที่ไทยอาจถูกเก็บภาษีในอัตรา 18% ซึ่งเป็นอัตราที่พิจารณาจากภาพรวม คาดว่าหากเป็นเช่นนั้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยจะอยู่ที่ประมาณ 1.5% ซึ่งเป็นค่ากลางในกรอบ 1.5-2% ขณะที่ในปี 2568 ธปท. ประเมินจีดีพีของไทยไว้ที่ 2.3%
ทั้งนี้ นายปิติ เน้นว่า เรื่องของตัวเลขยังไม่สำคัญเท่ากับทิศทางโดยรวมของเศรษฐกิจ เพราะตั้งแต่ครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไป คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะแผ่วลง โดยเฉพาะหากเริ่มนับผลกระทบจากเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป จะเหลือเวลาเพียง 4 เดือนสำหรับปีนี้ และสิ่งสำคัญคือ เศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปี 2569 ซึ่งล่าสุด ธปท. ได้ปรับประมาณการจีดีพีลงเหลือ 1.7% จากเดิม 1.8% โดยนายปิติ ระบุเพิ่มเติมว่า ทิศทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มชะลอตัวพอสมควร การขยายตัวจะต่ำกว่าศักยภาพ ซึ่งผลกระทบครั้งนี้เป็นปัจจัยช็อกที่ทอดยาว ไม่ใช่เหตุการณ์ระยะสั้น แม้จะเป็นกรณีเลวร้าย แต่ภาพรวมของเศรษฐกิจก็ยังคงเป็นทิศทางชะลอลง
ในส่วนของผลกระทบจากภาษีสหรัฐฯ ต่อเศรษฐกิจไทย นายปิติ มองว่าจะแตกต่างจากวิกฤตการเงินโลก (GFC) และวิกฤตโควิด-19 ที่เศรษฐกิจหยุดชะงักอย่างฉับพลัน เนื่องจากครั้งนี้
1. การจัดเก็บภาษีของสหรัฐฯ มีการรับรู้ล่วงหน้า ไม่ได้เกิดขึ้นทันที ทำให้ผู้ประกอบการยังสามารถปรับตัวได้บ้าง โดยที่ผ่านมาได้มีการเก็บภาษีไปแล้วในบางส่วน เช่น 10% ขณะที่ภาษีอื่น ๆ ยังไม่มีความชัดเจน
2. ลักษณะของภาษีนำเข้าที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการซื้อในสหรัฐฯ ลดลง ขณะเดียวกันก็เป็นความพยายามผลักต้นทุนไปยังผู้ประกอบการทั้งในสหรัฐฯ และผู้ส่งออกจากประเทศอื่น ๆ ซึ่งทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น และเนื่องจากสหรัฐฯ เป็นผู้บริโภครายใหญ่ของโลก ผลกระทบจึงค่อนข้างกว้าง
นายปิติ สรุปว่า ผลกระทบครั้งนี้จะมีลักษณะยืดเยื้อและรุนแรง เพราะส่งผลต่อโครงสร้างการค้า การเปลี่ยนแปลงของซัพพลายเชน และทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวและหาตลาดใหม่ ซึ่งต่างจากวิกฤตโควิด-19 และ GFC ที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบในระยะเวลาอันสั้น