
หมอเตือน เข้าสู่ฤดูระบาดไวรัส RSV รีบเช็กอาการ แนะวิธีป้องกันก่อนสาย
7 กรกฎาคม 2568 พญ.สิริรักษ์ กาญจนธีระพงค์ กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา แผนกสุขภาพเด็ก โรงพยาบาลนวเวช ออกมาเตือนว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ช่วงฤดูกาลระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส RSV ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม พร้อมเผยข้อมูลอาการของโรค วิธีป้องกัน และแนวทางรักษาที่ควรรู้ก่อนสายเกินไป
เรียกได้ว่าตอนนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ช่วงฤดูกาลระบาดของโรคไวรัสทางเดินหายใจอย่างเป็นทางการอีกครั้งแล้ว ซึ่งแต่ละประเทศจะมีฤดูกาลระบาดของโรคไวรัสทางเดินหายใจแตกต่างกันไป ตามสภาพดินฟ้าอากาศ และการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เช่น โรงเรียนเปิดเทอม-ปิดเทอม การเปลี่ยนฤดูกาลเข้าสู่ฤดูฝน-ฤดูหนาว
พญ.สิริรักษ์ เผยว่า ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ประเทศไทยเริ่มมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ร่วมกับไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะเห็นว่ามีการระบาดเร็วขึ้นกว่าปีที่ผ่านๆ มา แต่อาจไม่ได้มีอาการรุนแรงเท่าสายพันธุ์ก่อนหน้านั้น ส่วนไรโนไวรัสมักพบได้ตลอดทั้งปี แต่สำหรับ RSV ในทุกปีจะเริ่มระบาดตั้งแต่ช่วงกลางฤดูฝน หรือประมาณช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม และสำหรับโรคไวรัสทางเดินหายใจที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19), ไข้หวัดใหญ่ (Influenza, Flu), โรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) และไรโนไวรัส (Rhinovirus)
RSV คืออะไร
RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสของระบบทางเดินหายใจ สามารถซึมเข้าสู่ทางเดินหายใจได้โดยตรงและรวดเร็ว ทำให้เกิดการทำลายเนื้อเยื่อบุทางเดินหายใจอย่างรุนแรง และอาจทำให้เกิดโรคปอดบวม ปอดอักเสบ หรือหลอดลมฝอยอักเสบได้ง่ายมาก โดยติดต่อกันได้ง่ายผ่าน Droplet จากสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย ผ่านการไอ จาม หรือสัมผัสโดยตรง มักพบการระบาดตามฤดูกาล คือ ช่วงกลางฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาว หรือช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง
อาการเมื่อติดเชื้อ RSV
อาการเริ่มแรกจะคล้ายไข้หวัดทั่วไป เช่น มีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล และมักจะหายภายใน 5-7 วัน เด็กบางคนอาจมีอาการไอแบบมีเสมหะ ไอมากจนอาเจียน อาจมีอาการหายใจเร็ว หายใจแรง หายใจลำบาก หรือหายใจมีเสียงวี๊ด (wheezing) ซึ่งความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานตามช่วงวัย ในเด็กสามารถเกิดได้ตั้งแต่ ไข้หวัดธรรมดา (Common cold), คออักเสบ (Pharyngitis), กล่องเสียงอักเสบ (Laryngitis), หลอดลมอักเสบ (Bronchitis), หลอดลมฝอยอักเสบ (Bronchiolitis) ไปจนถึงปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia) โดยกลุ่มเสี่ยงที่มักมีอาการรุนแรงได้แก่ เด็กทารกอายุน้อยกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ปัจจุบันสามารถตรวจหาเชื้อ RSV ได้ง่ายขึ้นด้วยการป้ายสารคัดหลั่งน้ำมูกในจมูก (Nasal swab) ซึ่งทำได้สะดวก ราคาถูก และสามารถตรวจคัดกรองเบื้องต้นได้คล้ายการตรวจโควิดด้วยตนเอง
วิธีการรักษา RSV
แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ การประคับประคองอาการ เช่น ให้สารน้ำทางเส้นเลือดดำ ให้ออกซิเจน ช่วยดูดเสมหะ และการรักษาแบบเฉพาะ เช่น พ่นยาขยายหลอดลม พ่นน้ำเกลือเข้มข้นชนิดพิเศษ เพื่อลดภาวะหลอดเกร็ง และหายใจมีเสียงวี๊ด ปัจจุบันมีการใช้ยา Montelukast ในการลดความรุนแรงในช่วงแรกของอาการหอบเหนื่อย และใช้ยาต่อเนื่องเพื่อลดการกลับมาเป็นซ้ำ
แม้จะรักษาหายแล้ว RSV ยังมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ และเด็กที่เคยติดเชื้ออาจมีภาวะหลอดลมไว ทำให้หายใจเหนื่อยง่าย รวมถึงมีรายงานว่าช่วยเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหอบหืดในอนาคต
ในปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนป้องกัน RSV แล้ว ซึ่งช่วยลดโอกาสการติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อน แนะนำให้ฉีดในคุณแม่ตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง เบาหวาน ไต หัวใจ ส่วนในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี แนะนำให้ฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปก่อนฤดูกาลระบาด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันระยะสั้นทันที
มาตรการป้องกัน
หมั่นล้างมือให้สะอาด หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่างระหว่างทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ให้เด็กอยู่ในที่แออัด แยกเด็กและของเล่นทันทีเมื่อสงสัยว่าเด็กป่วย และควรตรวจหาเชื้อทันที เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดทั้ง RSV และไวรัสทางเดินหายใจอื่นๆ