
ด่วน! สทนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำหลาก ดินโคลนถล่ม 6-12 ก.ค. นี้
วันที่ 5 ก.ค.2568 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 10/2568 เรื่องการเฝ้าระวังน้ำหลาก ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมขัง และระดับน้ำโขงเปลี่ยนแปลง โดยจากการติดตามสภาพอากาศล่าสุด พบว่ามีแนวโน้มฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ ซึ่งทาง สทนช. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทำการประเมิน วิเคราะห์ และคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงในช่วงวันที่ 6 - 12 กรกฎาคม 2568 ดังนี้
1. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และน้ำท่วมขัง ดังนี้
ภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่
- เชียงราย (อำเภอเมืองเชียงราย แม่สาย พญาเม็งราย เวียงชัย เทิง เชียงของ เวียงแก่น และอำเภอเชียงแสน)
- พะเยา (อำเภอเมืองพะเยา ดอกคำใต้ ปง เชียงคำ และอำเภอเชียงม่วน)
- น่าน (อำเภอเมืองน่าน บ่อเกลือ ปัว ทุ่งช้าง ภูเพียง สองแคว เฉลิมพระเกียรติ เชียงกลาง ท่าวังผา และอำเภอเวียงสา)
- ตาก (อำเภอท่าสองยาง)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่
- เลย (อำเภอเมืองเลย นาด้วง ด่านซ้าย นาแห้ว และอำเภอปากชม)
- หนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย โพนพิสัย และอำเภอรัตนวาปี)
- บึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬ เซกา บึงโขงหลง และอำเภอปากคาด)
- อุดรธานี (อำเภอเมืองอุดรธานี วังสามหมอ เพ็ญ สร้างคอม บ้านดุง และอำเภอหนองหาน)
- สกลนคร (อำเภออากาศอำนวย และอำเภอสว่างแดนดิน)
- นครพนม (อำเภอศรีสงคราม และอำเภอนาทม)
- ยโสธร (อำเภอเมืองยโสธร และอำเภอมหาชนะชัย)
- อุบลราชธานี (อำเภอโขงเจียม สิรินธร พิบูลมังสาหาร และอำเภอศรีเมืองใหม่)
ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่
ชลบุรี (อำเภอบางละมุง และอำเภอศรีราชา)
- ระยอง (อำเภอเมืองระยอง บ้านค่าย ปลวกแดง และอำเภอนิคมพัฒนา)
- จันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี ขลุง ท่าใหม่ นายายอาม มะขาม และอำเภอแหลมสิงห์)
- ตราด (อำเภอเมืองตราด เขาสมิง คลองใหญ่ และอำเภอบ่อไร่)
ภาคใต้ 4 จังหวัด ได้แก่
- สุราษฎร์ธานี (อำเภอชัยบุรี บ้านตาขุน และอำเภอบ้านนาสาร)
- ระนอง (ทุกอำเภอ)
- พังงา (อำเภอคุระบุรี ตะกั่วป่า กะปง และอำเภอท้ายเหมือง)
- ภูเก็ต (ทุกอำเภอ) พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุเก็บกักบริเวณ จ.ลำปาง น่าน พิษณุโลก สระบุรี สกลนคร อุดรธานี ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ นครพนม ขอนแก่น นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี จันทบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี และกระบี่
2. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ ๘๐ ของความจุเก็บกักบริเวณ จังหวัดลำปาง น่าน พิษณุโลก สระบุรี สกลนคร อุดรธานี ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ นครพนม ขอนแก่น นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี จันทบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี และกระบี่ และเร่งพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยโทง และอ่างเก็บน้ำห้วยซวง จังหวัดสกลนคร อ่างเก็บน้ำหนองหญ้าม้า จังหวัดกาฬสินธุ์ อ่างเก็บน้ำด่านชุมพล จังหวัดตราด รวมทั้งพิจารณาพร่องน้ำในแหล่งน้ำ ได้แก่ กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา หนองหาร จังหวัดสกลนคร และหนองกุดทิง จังหวัดบึงกาฬ เพื่อรองรับปริมาณน้ำหลากจากฝนที่ตกหนักในพื้นที่
3. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำอิง บริเวณอำเภอเชียงคำ เทิง พญาเม็งราย ขุนตาล และเชียงของ จังหวัดเชียงราย และแม่น้ำสาย บริเวณอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
4. เฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลง เนื่องจากมีปริมาณฝนตกสะสม บริเวณสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ส่งผลให้ระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณพื้นที่จังหวัดริมแม่น้ำโขง ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานีในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า๙๐ มิลลิเมตร ตลอด ๒๔ ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วม รวมถึงพื้นที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน
2. ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ
พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ขนาดกลาง ขนาดเล็ก น้ำในลำน้ำ รวมถึงเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและ อิทธิพลของการขึ้น – ลง ของน้ำทะเล โดยการเร่งระบายและพร่องน้ำรองรับสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกหนัก
3. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสาร เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเตรียมพร้อมในการขนของขึ้นสู่ที่สูงหรืออพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
ประกาศ ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2568
ที่มา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)