
เอกชนไทยลุ้นหนัก! เจรจาภาษีสหรัฐฯคืนนี้ หวั่นเสียเปรียบเวียดนาม
วันนี้ (4 ก.ค.2568) การเจรจาภาษีระหว่างไทยและสหรัฐฯ กลายเป็นประเด็นร้อนทันที หลังจากเวียดนามกลายเป็นชาติแรกในอาเซียนปิดดีลสำเร็จ โดยยอมจ่ายภาษีส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ที่อัตรา 20% ซึ่งในขณะเดียวกัน ก็ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าจากฝั่งอเมริกา ข้อตกลงนี้ถูกมองว่าอาจกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่สหรัฐฯ ใช้เจรจาต่อรองกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งหมายรวมถึงไทยที่อาจต้องยอมเงื่อนไขไม่ต่างกัน หรืองยื่นข้อเสนอที่ดีกว่าเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน
นายธาราบดี ซึ้งอดิชัยวิทย์ รองประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมไทยในเวียดนาม มองว่า อัตรา 20% ที่เวียดนามตกลงถือว่าโอเคในระดับหนึ่ง เพราะยังดีกว่าโดนภาษีสูงถึง 46% ที่เคยมีการคาดการณ์ไว้ เขาประเมินว่าผลกระทบต่อ GDP ของเวียดนามอยู่แค่ราว ๆ 1% เท่านั้น ส่วนธุรกิจไทยในเวียดนามซึ่งส่วนใหญ่เน้นขายในประเทศก็ไม่ได้รับผลกระทบเท่าไหร่ ยกเว้นบางกลุ่ม เช่น เสื้อผ้าและทูน่ากระป๋อง ที่มีการส่งออกไปสหรัฐฯ อยู่แล้ว พอเจอภาษีเพิ่มจากเดิมประมาณ 18% ไปเป็น 20% ก็ถือว่าไม่ต่างกันมากนัก
ขณะที่นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกิตติมศักดิ์ สภาธุรกิจไทย-เวียดนาม มองว่า แม้เวียดนามจะได้ข้อตกลงแล้ว แต่คนที่โดนลมแรงสะบัดอาจเป็นนักลงทุนไทยที่ตั้งฐานการผลิตในเวียดนาม เพราะต้นทุนบางอย่างอย่างค่าแรงหรือค่าไฟของเวียดนามก็ถูกกว่าไทยพอสมควร ราว ๆ 5-10% เลยทีเดียว แถมรัฐบาลเวียดนามยังตัดสินใจเร็ว ทำให้เจรจาได้ไวกว่าเรา ซึ่งถ้าไทยจะหวังอัตราภาษีต่ำกว่า 20% แบบเหลือแค่ 10% ก็อาจจะต้องบอกว่า ยากหน่อย
ทางด้าน ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ชี้ว่า ถ้าไทยโดนภาษีเท่ากับเวียดนามที่ 20% ข้าวไทยยังพอสู้ไหว แต่ถ้ามากกว่านั้นเมื่อไหร่ สถานการณ์จะไม่ค่อยดี เพราะราคาข้าวไทยสูงกว่าเวียดนามอยู่แล้ว ยิ่งเวียดนามยอมปลดล็อกภาษีให้อเมริกาไปเต็ม ๆ แบบนั้น เท่ากับเขาเตรียมพร้อมมาดีมาก ส่วนไทยก็คงต้องเร่งมือหน่อยแล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น ฝั่งภาคเอกชนไทยยังคาดว่า ถ้าไทยโดนอัตราภาษีเกิน 20% จริง ๆ จะไม่ใช่แค่เรื่องการส่งออกเท่านั้นที่ลำบาก แต่จะกระทบไปถึงการดึงดูดนักลงทุนที่มองหาแหล่งตั้งโรงงานด้วย เพราะเมื่อเทียบกันแล้ว เวียดนามมีต้นทุนที่ต่ำกว่า แถมยังได้ข้อตกลงภาษีที่ชัดเจนกว่า ทำให้ดูน่าลงทุนมากกว่าไทยในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ คืนนี้จึงกลายเป็นหมากสำคัญ หวังทีมเจรจาของไทยจะสามารถนำเสนอข้อเสนอที่แข็งแกร่งเพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก