
ไม่ต้องใช้พลังช้าง แค่พายุฤดูร้อน เผยภาพล่าสุด คูกั้นช้าง งบสร้าง 40 ล้าน พังถล่มยับไม่เป็นท่า
เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2568 จากการที่มีฝนตกในช่วงนี้ ปรากฎว่า คูกั้นช้าง แบบดาดคอนกรีต ที่เพิ่งสร้างเสร็จแล้วบางส่วน ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ได้เกิดพังทลาย เสียหายยับเยิน จากเหตุฝนตกหนักช่วงพายุฤดูร้อน โดยคูกั้นช้างในจุดนี้ คือจุดเดียวกันกับที่เคยมีข่าวเกิดเหตุถล่มพังเสียหายเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 ซึ่งสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) ได้เฝ้าติดตามกำกับดูแลการทำงานของผู้รับเหมาอย่างใกล้ชิด แต่ก็มาเกิดเหตุอีกจนได้
จากการตรวจสอบพบว่า โครงการก่อสร้างคูกั้นช้าง แบบดาดคอนกรีต ได้รับงบประมาณประจำปี 2567 เพื่อสร้างระยะทาง 10 กิโลเมตร กิโลเมตร มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณค่อนข้างสูง เฉลี่ยกิโลเมตรละ 4.2 ล้านบาท ขณะนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 3 กม. โดยผู้รับเหมา ได้ส่งงานเพื่อเบิกเงินค่าก่อสร้าง ในวันที่ 18 มีนาคม 2568 ส่วนระยะทางที่เหลือยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างตามแผนงาน
นอกจากนี้ ยังมีรายงานเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา นายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (สบอ.2) ได้นำ กมธ.ช้าง สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่กว่า 80 คน ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการก่อสร้างคูกั้นช้าง แบบดาดคอนกรีต บริเวณจุดที่เกิดเหตุพังทลายนี้
ซึ่งคณะตรวจสอบประกอบด้วยหน่วยงานหลายภาคส่วน นำโดย นายศักดิ์ชาย ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา ในฐานะประธานกรรมาธิการช้าง สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายดิเรก จอมทอง เลขาธิการคณะกรรมาธิการช้าง นายเผด็จ ลายทอง คณะกรรมาธิการช้าง นายพิทักษ์ อินทศร ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า นายเอกชัย แสนดี หน.ขสป.เขาอ่างฤาไน นายไพรินทร์ หนูมาก ประธานสภา อบจ.ฉะเชิงเทรา ชุดผลักดันช้างของ สบอ.2 ทหารจาก กรม.ทพ.13 และจิตอาสาในพื้นที่ อ.ท่าตะเกียบ
ซึ่งคณะกรรมาธิการได้ตรวจสอบความแข็งแรงของคูกั้นช้าง พร้อมทั้งแสดงความเห็นว่า ควรมีการสร้างคูกั้นช้างเพิ่มเติมทุกปี เนื่องจากยังมีบริเวณที่ช้างสามารถออกจากป่าได้อีกเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร โดยเฉพาะใน จ.ฉะเชิงเทรา ที่มีแนวเขตยาวประมาณ 150 กม. หาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จัดสรรงบประมาณมาก่อสร้างให้ครบทั้ง 150 กม. จะสามารถป้องกันการออกจากป่าของช้างในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทราได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะสร้างความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน
ข้อมูล DAILYNEWS ONLINE