ทลายโรงงานผลิตเครื่องมือแพทย์เถื่อน ส่งโรงพยาบาล กว่า 12 แห่ง มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท

ทลายโรงงานผลิตเครื่องมือแพทย์เถื่อน ส่งโรงพยาบาล กว่า 12 แห่ง มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย บก.ปคบ.,สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการทลายโรงงาน ผลิตเครื่องมือแพทย์ สำลีชุบเอทิลแอลกอฮอล์ 70%v/v เถื่อน ในพื้นที่ จ.นนทบุรี ตรวจยึดของกลาง จำนวน 22 รายการ มูลค่ากว่า 2,000,000 บาท

พฤติการณ์กล่าวคือ สืบเนื่องเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียน และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเบาะแสจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี จึงได้ร่วมกันเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ใช้ตามโรงพยาบาลต่างๆ

โดยพบว่า สำลีชุบเอทิลแอลกอฮอล์ 70%v/v ที่ใช้สำหรับ ฆ่าเชื้อ และทำความสะอาดเครื่องมือแพทย์ ยี่ห้อ “ดาราพลัส” โดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนจนทราบสถานที่ผลิต โดยพบว่ามีการลักลอบผลิต ผลิตภัณฑ์สำลีชุบเอทิลแอลกอฮอล์ 70%v/v ภายในโกดังในพื้นที่ ต.คลองข่อย อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวหากผลิตโดยไม่ได้มาตรฐานแล้วมีการนำไปใช้ทำความสะอาดเครื่องมือแพทย์ และใช้ในการรักษาผู้ป่วยตามสถานพยาบาล อาจทำให้การฆ่าเชื้อไม่ได้ประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดการติดเชื้อจากการรักษา ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ป่วย

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นำหมายศาลจังหวัดนนทบุรี เข้าตรวจค้นสถานที่ผลิตภายในโกดังแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ ต.คลองข่อย อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ขณะเข้าตรวจค้นพบว่าโรงงานดังกล่าวอยู่ระหว่างการผลิตสำลีชุบเอทิลแอลกอฮอล์ 70%v/v ตรวจยึดและอายัดของกลาง จำนวน 22 รายการ ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี รายละเอียดดังนี้ ผลิตภัณฑ์สำลีชุบเอทิลแอลกอฮอล์ 70%v/v ยี่ห้อดาราพลัส จำนวน 2,830 แผง  ผลิตภัณฑ์สำลีชุบเอทิลแอลกอฮอล์ยี่ห้อ เช็ดดี้ 70% ไม่มีเลขแจ้งรายการละเอียดจำนวน 6,400 ชิ้น

วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ได้แก่

-สำลีแบบก้อน (แบบแห้ง) 89 ถุง

-สำลีชุบแอลกอฮอล์รอการบรรจุ 1 ถัง

-แอลกอฮอล์ ขนาดบรรจุ 18 ลิตร 5 แกลลอน

-แอลกอฮอล์ ขนาดบรรจุ 5ML  5 แกลลอน

4. เครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิต เช่น เครื่องปั่นแอลกอฮอล์, เครื่องบรรจุสำลีชุบแอลกอฮอล์, เครื่องซีลแผงสำลีชุบแอลกอฮอล์

5. กล่องบรรจุภัณฑ์ และฉลาก จำนวนกว่า 47,500 ชิ้น จากการตรวจสอบ พบว่าสถานที่ดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตเครื่องมือแพทย์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแต่อย่างใด เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตออกมาจึงจัดว่าเป็นเครื่องมือแพทย์ปลอม โดยสำลีชุบเอทิลแอลกอฮอล์ 70%v/v ยี่ห้อดังกล่าว ระบุฉลากให้ประชาชนโดยทั่วไปเข้าใจว่ามีความเข้มข้นของเอทิลแอลกอฮอล์ 70% แต่จากการตรวจสอบพบว่ามีการนำเอทิลแอลกอฮอล์70% ผสมกับน้ำเปล่าในถังตามสัดส่วนเพื่อเจือจางและลดต้นทุนในการผลิต ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อโรคและเกิดการปนเปื้อนได้

ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะส่งตัวอย่างของกลางทั้งหมดเพื่อตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐานของเครื่องมือแพทย์ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขเพื่อยืนยันอีกครั้ง หากตรวจพบการปนเปื้อน หรือคุณภาพไม่ได้มาตรฐานจะได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อไป จากการสืบสวนขยายผลพบว่าหลังจากโรงงานดังกล่าวผลิตสำลีชุบแอลกกอฮอลล์70%v/v เสร็จแล้ว จะมีการกระจายสินค้าให้แก่โรงพยาบาล สถานพยาบาล และประชาชนโดยทั่วไป โดย ระหว่างเดือนตุลาคม2567- มกราคม 2568 มีการผลิตและกระจายสู่สถานพยาบาลต่างๆ จำนวนกว่า 12 แห่ง เป็นจำนวนกว่า 88,000 แผง รวมมูลค่ากว่า 240,000 บาท

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

1. ฐาน ไม่จดทะเบียนสถานประกอบการผลิตเครื่องมือแพทย์” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. ฐาน ผลิตเครื่องมือแพทย์ โดยไม่ได้รับใบรับแจ้งรายการละเอียด ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. ฐาน ผลิตเครื่องมือแพทย์ปลอม โดยลวงให้เข้าใจผิดเรื่องเครื่องหมายรับรองคุณภาพ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ อย. ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่สืบสวนขยายผลจนสามารถสืบหาแหล่งผลิตสินค้าปลอมในครั้งนี้ได้

จากการตรวจสอบในครั้งนี้ พบโรงงานลักลอบผลิตเครื่องมือแพทย์ ดาราพลัส สำลีชุบเอทิลแอลกอฮอล์ 70%v/v แต่ฉลากแสดงเลขอย. 66-2-3-2-0009436 นำเข้าโดยบริษัท ซิกซ์อินฟินิท จำกัด ซึ่งมิใช่ความจริง อีกทั้งโรงงานดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นสถานที่ผลิตเครื่องมือแพทย์ ถือว่าไม่มีหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตเครื่องมือแพทย์ (GMP) และไม่สามารถมั่นใจได้ถึงคุณภาพมาตรฐาน และประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรค หากใช้แล้วก่อให้เกิดการปนเปื้อนหรือติดเชื้อ อันตรายถึงชีวิตได้

ดังนั้น เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตจากโรงงานดังกล่าวเข้าข่ายเป็นเครื่องมือแพทย์ปลอม ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ที่ตรวจยึดได้ อย. จะส่งตรวจวิเคราะห์ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อทดสอบคุณภาพมาตรฐานว่า เป็นไปตามข้อกำหนดหรือไม่

ผู้สื่อข่าวสยามนิวส์ รายงาน

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ