
ปวีณา พาผู้เสียหายถูกบริษัทช่วยปิดหนี้ หลอกซื้อคอนโดฯ เสียหายเป็นหนี้ 3 พันล้าน ยื่นเรื่องต่อ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
วันที่ 11 ธ.ค.67 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ได้พาผู้เสียหาย 70 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากทั้งหมด 200 กว่าคน เดินทางไปยื่นเรื่องต่อ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้ช่วยตรวจสอบบริษัทช่วยปิดหนี้ หลอกซื้อคอนโดฯ คนละ 3-6 ห้อง จนผู้เสียหายต้องเป็นหนี้กันคนละกว่าสิบล้าน และเกิดความเสียหายเป็นหนี้รวมกว่า 3 พันล้าน เพื่อขอให้ DSI เป็นหน่วยงานหลักในการประสานธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งเรื่องไปยังธนาคารทุกแห่ง เพื่อทำการประนอมหนี้ เช่น ไม่คิดดอกเบี้ย ชะลอการชำระเงินกู้ เพื่อให้ผู้เสียหายได้มีโอกาสตั้งหลักในการขายหรือให้เช่าคอนโดฯ เนื่องจากผู้เสียหายไม่มีกำลังส่งค่างวดกู้ซื้อคอนโดฯ พร้อมกันหลายห้องได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นหนี้เสียของธนาคารและส่งผลกับสภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ พร้อมกันนี้ขอให้ตรวจสอบบริษัทที่ทำธุรกิจในรูปแบบนี้ที่ตอนนี้มีการโฆษณาในโซเชียลอยู่เป็นจำนวนมาก หากมีคนหลงเชื่อจะทำให้เกิดความเสียหายมหาศาลที่ประเมินค่าไม่ได้
น.ส.มีน (นามสมมุติ) ผู้เสียหายรายหนึ่ง กล่าวว่า ตนเป็นพนักงานบริษัทเงินเดือน 4 หมื่นกว่าบาท ก่อนหน้านี้ตนเป็นหนี้บัตรเครติดอยู่ 9 แสนบาท จู่ๆ มีบริษัทแห่งหนึ่งโทรมาเสนอปิดหนี้บัตรเครดิตให้ แล้วเขาก็จ่ายเงินปิดให้จริง โดยมีเงื่อนไขห้ามไปเป็นหนี้อะไรอีก เพราะต้องการให้ปลอดหนี้ที่แสดงในเครดิตบูโร ซึ่งตนก็ไม่ทราบว่าเขารู้เรื่องหนี้สินตนได้อย่างไร จากนั้นก็ได้มีการไปลงบันทึกประจำวันที่สภ.คูคต ว่าบริษัทปิดหนี้ให้ และทำสัญญาจะต้องร่วมกับบริษัทในโครงการกู้ซื้อคอนโดฯ ผ่านไป 3-6 เดือน เมื่อบูโรใสสะอาดเขาก็ให้กู้ซื้อคอนโดฯ ทีแรกคิดว่าคงกู้ซื้อห้องเดียว แต่ปรากฎว่าเขาเอาเอกสารไปยื่นทุกธนาคารพร้อมกัน และตนก็กู้คอนโดฯ 4 แห่ง 4 ห้องผ่าน เป็นหนี้ 16 ล้าน โดยบริษัทบอกให้ตนผ่อน 1 ห้อง และบริษัทจะผ่อนอีก 3 ห้อง มีสัญญา 2 ปีจะซื้้อคืน แต่ผ่านไประยะหนึ่ง บริษัทก็ไม่ผ่อนทำให้ตนถูกธนาคารทวงถามและบอกจะฟ้อง
"ผู้เสียหายรายอื่นๆ ก็เช่นเดียวกับตน บางคนมีหนี้บัตรเครดิต 6 แสน บริษัทปิดหนี้ให้ แต่ต้องเป็นหนี้คอนโด 5 ห้อง 15 ล้าน บางคนมีคอนโดฯ ถึง 6 ห้องเป็นหนี้ 25 ล้าน 40 ล้านก็มี ผู้เสียหายได้มีการตั้งกลุ่มไลน์ขึ้นและมีสมาชิกกว่า 200 คน ทุกคนเครียดมากเพราะบริษัทปล่อยทิ้งมีหนังสือบอกให้ไปประนอมหนี้กับธนาคาร บริษัทปิดดำเนินการแล้ว ซึ่งตนเครียดจัดกำลังจะฆ่าผูกคอตาย พอดีโทรไปมูลนิธิปวีณาฯ ได้พูดคุยกับนางปวีณา จึงได้ขอความช่วยเหลือ และสมิกทุกคนก็รวมตัวกันร้องขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิปวีณาฯ"
นางปวีณา กล่าวว่า หลังรับเรื่องร้องทุกข์จากผู้เสียหายที่เดินทางมามูลนิธิปวีณาฯ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ได้ให้นักกฎหมายมูลนิธิปวีณาฯ ตรวจสอบเอกสารกฎหมายมีความละเอียดมากมีสัญญาเกือบทุกเรื่อง จึงมองถึงการแก้ปัญหาหนี้สินเป็นหลักว่าจะแก้อย่างไร สิ่งแรกที่เป็นห่วงคือ หนี้สินที่ต้องแบกหนี้คนละ 10 ถึง 20 ล้านบาท บางคนมากถึง 40 ล้านบาท ทั้งที่ทุกคนอายุยังน้อยอยู่ในวัยทำงานต้องเลี้ยงดูครอบครัว เลี้ยงดูลูกและพ่อแม่ ทุกคนพะวงว่าถ้าหาเงินมาใช้หนี้ไม่ได้เขาจะถูกเป็นบุคคลล้มละลาย หมายความว่าชีวิตเขาจะอยู่อย่างไร เอาเงินที่ไหนมาเลี้ยงดูครอบครัว ถูกออกจากงาน ยึดทรัพย์สิน เสียเครดิต
กรณีนี้ผู้เสียผลประโยชน์มี 2 ฝ่าย 1. ผู้ที่มาร้องทุกข์ถูกชักชวนให้ปิดหนี้สินบัตรเครดิตต่างๆ แล้วไปกู้ซื้อคอนโดที่มีเงื่อนไขต่างๆ กัน 2. ธนาคารสถาบันที่เปิดสินเชื่อวงเงินต่างกันก็ได้รับความเสียหายมีหนี้เสียถึง 3 พันล้านบาท เราจึงต้องมีหน่วยงานหนึ่งที่เป็นต้นเรื่องเพื่อขยายผลทั้งการช่วยเหลือและการตรวจสอบข้อมูล วันที่ 8 ธ.ค. นางปวีณาจึงได้โทรหา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ท่านรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ประชุมร่วมกับนางปวีณาและทีมงานในวันที่ 9 ธ.ค. ก่อนที่วันนี้จะรวบรวมรายชื่อผู้เสียหาย 151 ราย พร้อมรายละเอียดข้อมูลมามอบให้ท่านอธิบดี DSI โดยสิ่งที่ต้องการให้ช่วยเหลือเร่งด่วนที่สุด ขอให้ DSI ได้ประสานธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อไปประชุมกับธนาคาร 8-9 แห่ง ที่มีลูกหนี้กู้ซื้อคอนโดฯ อยู่ถึง 3 พันล้านบาท ว่าจะหามาตรการช่วยเหลือประนอมหนี้กันอย่างไร เช่น ไม่คิดดอกเบี้ย หรือชะลอการชำระเงินกู้
พร้อมกันนี้นางปวีณา จะประสาน พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) เพื่ออนุมัติให้ตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) มาช่วยตรวจสอบข้อมูลร่วมกับ DSI เนื่องจากเป็นเรื่องเศรษฐกิจความเสียหายเกิดขึ้นถึง 3,000 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวนครบาล ทีมข่าวสยามนิวส์ รายงาน