
น้ำยังท่วมสูงเกือบมิดหลังคา รามัน จ.ยะลา
สถานการณ์น้ำท่วม จ.ยะลา แม้ในเขตเทศบาลนครยะลา และเขตเมืองยะลา น้ำแห้งจนเกือบหมดแล้ว แต่ยังมีอำเภอรอบนอก น้ำยังคงท่วมสูงเกือบมิดหลังคา เช่นที่ตำบลท่าธง อำเภอรามัน ชาวบ้านต้องอพยพเข้าไปอยู่ในป่า และกินข้าวได้เพียงวันละมื้อเท่านั้น เพราะอาหารขาดแคลนมีจำกัด
ภาพจากอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน ของทีมตอบโต้ภัยพิบัติ “มูลนิธิเพชรเกษม” แสดงให้เห็นว่าที่บ้านป่าบอน หมู่ 4 ต.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา ยังมีน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนกว่า 140 หลังคาเรือน ชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 400 ชีวิต ชาวบ้านต้องอยู่ในสภาพน้ำท่วมสูงเกือบมิดหลังคาชั้น 2 กว่าหนึ่งสัปดาห์ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำและอยู่ติดกับ “พรุลายควาย” ซึ่งเป็นลักษณะแก้มลิงทางธรรมชาติ มีเนื้อที่กว่า 15,000 ไร่ มีมวลน้ำจากวังพญา และแม่น้ำสายบุรีบางส่วน ไหลมารวมกันที่นี่ มีน้ำท่วมสูงในพื้นที่กว่า 3 เมตร / ชาวบ้านป่าบอน สามารถรับประทานอาหารได้เพียงวันละมื้อเท่านั้น เนื่องจากเสบียงอาหารมีจำกัดและถูกตัดขาดจากโลกภายนอก การช่วยเหลือยากที่จะเข้าถึงต้องใช้เรือเดินทางเข้าออกเพียงอย่างเดียว จึงร้องขอความช่วยเหลือจากทีมตอบโต้ภัยพิบัติ มูลนิธิเพชรเกษม ขออาหารและน้ำดื่ม เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปช่วยเหลือ มีเพียง อบต.ท่าธง ส่งอาหารให้เพียงวันละมื้อ เนื่องจากอาหารขาดแคลน มีจำนวนจำกัดต้องแบ่งไปช่วยเหลือในหลายๆหมู่บ้าน
พ.ต.อ.สรุนาท วงศ์พรหมชัย นวท ( สบ5 ) ศพฐ.10 ( 2 ) พร้อมกำลังพลในสังกัด และทีมตอบโต้ภัยพิบัติ “มูลนิธิเพชรเกษม” เดินทางเข้าพื้นที่พร้อมอาหารและน้ำดื่มทันที หลังได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากชาวบ้านที่นี่ ข้าวสาร น้ำดื่ม และไข่ไก่ ถูกนำลงจากรถบรรทุกช่วยเหลือผู้ประสบภัย ของทางมูลนิธิเพชรเกษม ลำเลียงโดยเรือกู้ภัยนำเข้าไปให้ชาวบ้านผู้ประสบภัย ที่ติดอยู่ในบ้านไม่สามารถออกมาหาอาหารได้ หลายหลังคาเรือนบ้านบางหลังถูกน้ำท่วมสูงจนเกือบมิดหลังคา
นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านป่าบอน หมู่ 4 ต.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา 50 กว่าชีวิต ต้องเข้าไปอาศัยอยู่ในป่าใกล้หมู่บ้านเป็นลักษณะเนินดินที่น้ำท่วมไม่ถึง เมื่อทีมตอบโต้ภัยพิบัติ เดินทางด้วยเรือกู้ภัยเข้าไปยังพื้นที่ พบว่ามีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ใช้ผ้าใบทำเป็นที่หลบฝนหลบแดด อาศัยอยู่ในป่ามานานกว่าหนึ่งสัปดาห์แล้ว ทีมตอบโต้ภัยพิบัติ มูลนิธิเพชรเกษม ได้นำข้าวสาร ไข่ไก่ และน้ำดื่มเข้าไปมอบให้ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในป่าพากันดีใจบางคนถึงกับร้องไห้ออกมา เพราะเป็นหน่วยงานแรกที่เข้าไปช่วยเหลือพวกเขา
นายอับดุลเลาะห์ อาบู ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 ตำบลท่าธง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา บอกว่า ชาวบ้านที่นี่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก การที่จะเข้ามาถึงในหมู่บ้านจะต้องใช้เรือเพียงอย่างเดียว เพราะน้ำท่วมสูง 3 ถึง 4 เมตร มาเป็นเวลาหลายวันแล้ว ชาวบ้านมีอาหารและน้ำดื่มจำนวนจำกัด อบต.ท่าธง สามารถช่วยเหลือข้าวกล่องได้เพียงวันละมื้อต่อคน เนื่องจากเสบียงอาหารมีไม่เพียงพอกับชาวบ้าน ปกติในพื้นที่นี้น้ำจะท่วมทุกปี แต่สำหรับปีนี้น้ำท่วมสูงในรอบ 30 ปี และจะมีชาวเมืองยะลา นำความช่วยเหลือมาให้ แต่ปีนี้ในเขตเมืองยะลาก็ถูกน้ำท่วมเช่นกัน จึงไม่สามารถช่วยเหลือชาวบ้านที่นี่ได้เหมือนอย่างเช่นเคย
จึงประสานงานไปยังทีมตอบโต้ภัยพิบัติ มูลนิธิเพชรเกษม ให้นำความช่วยเหลือมาให้ชาวบ้านที่นี่ และรู้สึกดีใจที่ทางมูลนิธิเพชรเกษมนำความช่วยเหลือมาให้ชาวบ้านที่นี่ และเป็นกู้ภัยหน่วยแรกที่เดินทางเข้ามาให้ความช่วยเหลือชาวบ้านผู้ประสบภัย
ด้าน นายอุสมาน อาบู ประธานเยาวชนจิตอาสาบ้านป่าบอน ต.ท่าธง เปิดเผยกับทีมตอบโต้ภัยพิบัติ มูลนิธิเพชรเกษม ว่า หลังจากที่หน่วยงานด้านนอกไม่สามารถเดินทางเข้ามาช่วยเหลือได้ พวกเขาได้รวบรวมเยาวชนในตำบลท่าธง ตั้งเป็นชมรมเยาวชนจิตอาสา เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับชาวบ้าน และคอยให้ความช่วยเหลือชาวบ้านเท่าที่สามารถจะทำได้ และขอบคุณพี่น้องคนไทยที่ไม่ทอดทิ้งพี่น้องสามจังหวัดชายแดนใต้ในสถานการณ์วิกฤตน้ำท่วม
ส่วนที่สถานีตำรวจภูธรท่าธง ก็กลายเป็นผู้ประสบภัยเช่นกันมีมวลน้ำล้อมรอบสูงเกือบ 2 เมตร ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้ชั่วคราว หากจะเดินทางไปแจ้งความหรือติดต่อชาวบ้านจะต้องใช้เรือเพียงอย่างเดียวจึงจะสามารถเข้าไปได้ นอกจากนี้อุปกรณ์สำนักงานบางอย่างเกิดความเสียหาย ทีมตอบโต้ภัยพิบัติ มูลนิธิเพชรเกษม ต้องลำเลียงอาหาร และน้ำดื่มเข้าไปมอบให้ตำรวจภูธรท่าธง จ.ยะลา เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นไปก่อน
ผู้สื่อข่าวสยามนิวส์พิเศษ ประจำมูลนิธิเพชรเกษม รายงาน