
จับรถพ่วง ถ่ายเอกสารแผ่นป้ายภาษีติดหน้ารถ ตบตาเจ้าหน้าที่
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการตำรวจทางหลวง (บก.ทล.) ได้ร่วมกันจับกุม นายสุภาพฯ อายุ 47 ปี ในความผิดฐาน ปลอมแปลงเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม, ใช้เครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทางราชการออกให้สำหรับรถคันหนึ่งกับรถอีกคันหนึ่ง และใช้รถในการขนส่งที่มิได้เสียภาษีถูกต้อง
พร้อมด้วยของกลาง
1. รถบรรทุกหัวลาก (ตัวแม่) ไม่ประจำทาง ชนิด 10 ล้อ ยี่ห้อ ฮีโน่ สีขาว ทะเบียน 72-XXX3 สมุทรปราการ
2. รถกึ่งพ่วง (ตัวลูก) ชนิด 3 เพลา 6 ล้อ ยาง 12 เส้น สี ขาว ทะเบียน 72-XXX2 นครปฐม
3. แผ่นป้ายแสดงการเสียภาษี (ฉบับจริงของรถคันอื่น) เลขทะเบียน 72-XXX4 สมุทรปราการ 1 ใบ
4. แผ่นป้ายแสดงการเสียภาษี (ฉบับปลอมโดยการถ่ายเอกสารสี) เลขทะเบียน 72-XXX4 สมุทรปราการ 1 ใบ
สถานที่จับกุม ถนนพระราม 2 กม.20 ขาออก กทม. ต.คอกกระบือ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567
พฤติการณ์ เมื่อวันที่ 2 พ.ค.67 ขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง ส.ทล.1 กก.2 (นครปฐม) ได้ออกตรวจปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดกฎหมายบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม2) มาถึง กม.20 ขาออก กทม. ต.คอกกระบือ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ได้พบรถพ่วง 22 ล้อ ยี่ห้อฮีโน่ สีขาว พร้อมบรรทุกตู้ส่งสินค้าขับขี่มาบนถนน เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงชุดจับกุมจึงได้ตรวจสอบหมายข้อมูลเลขทะเบียนรถบรรทุกหัวลาก (ตัวแม่) ทะเบียน 72-XXX3 สมุทรปราการ พบว่ารถคันดังกล่าว มีสถานะ “ระงับใช้รถ” และวันสิ้นสุดภาษีตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2563 (ภาษีขาดมาแล้วเกือบ 4 ปี) จากนั้นได้ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า รถกึ่งพ่วง (ตัวลูก) ทะเบียน 72-XXX2 นครปฐม พบว่ารถคันดังกล่าว มีสถานะ “ระงับใช้รถ” และวันสิ้นสุดภาษีตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2562 (ภาษีขาดมาแล้วเกือบ 5 ปี)
เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงชุดจับกุมจึงส่งสัญญาณให้รถคันดังกล่าวจอดชิดขอบทางเดินรถด้านซ้ายในลักษณะปลอดภัย และเข้าแสดงตัวขอทำการตรวจสอบพบนายสุภาพ เป็นผู้ขับขี่ และได้ทำการตรวจสอบป้ายภาษีซึ่งติดอยู่กระจกด้านหน้ารถบริเวณกึ่งกลางกระจก พบว่าป้ายภาษีทั้ง 2 ใบ ไม่ตรงกับตัวป้ายทะเบียนรถที่ขับขี่มา ซึ่งป้ายภาษีที่ 1 ระบุหมายเลขทะเบียน 72-XXX4 สมุทรปราการ ตรวจสอบพบว่าเป็นฉบับจริง แต่เป็นของรถบรรทุกอีกคันหนึ่ง และแผ่นป้ายภาษีที่ 2 ระบุหมายเลขทะเบียน 72-XXX4 สมุทรปราการ เช่นเดียวกัน แต่เป็นการถ่ายเอกสารสีทำปลอมขึ้นมา ซึ่งป้ายภาษีดังกล่าวทั้ง 2 ไม่ตรงกับทะเบียนรถที่ขับขี่มา เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงชุดจับกุม จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบว่า “ปลอมแปลงเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม, ใช้เครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทางราชการออกให้สำหรับรถคันหนึ่งกับรถอีกคัน, ใช้รถในการขนส่งที่มิได้เสียภาษีถูกต้อง” ก่อนนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสมุทรสาคร เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
สอบถามคำให้การเบื้องต้น นายสุภาพฯ ให้การรับสารภาพว่าตนเป็นผู้ขับขี่รถคันดังกล่าวจริงและไม่ได้ชำระภาษีฯ ซึ่งตนเป็นลูกจ้างขับรถพ่วงส่งสินค้าให้กับนายนเรศฯ ซึ่งเป็นเจ้าของรถและนายจ้าง ซึ่งนายจ้างเป็นผู้แผ่นป้ายปลอมขึ้นมา และนำมาติดไว้หน้ารถ เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ เนื่องจากทั้งรถบรรทุกหัวลาก (ตัวแม่) และรถกึ่งพ่วง (ตัวลูก) ถูกปล่อยให้ภาษีขาดมานาน จนถูกระงับการใช้รถ
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ฝากประชาสัมพันธ์เตือนภัย สำหรับการถ่ายเอกสารสีแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถคันหนึ่ง แล้วนำไปติดกับรถอีกคันหนึ่ง มีความผิดฐาน"ปลอมเอกสารราชการ" อัตราโทษ จำคุกตั้งแต่ 6 ดือนถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 - 100,000 บาท ดังนั้น หากภาษีรถขาด ไม่ควรที่จะไปถ่ายเอกสารสีรถคันอื่นมาติด นอกจากนี้เมื่อนำรถที่ติดแผ่นป้ายภาษีปลอมไปใช้ ผู้ขับขี่ย่อมมีความผิดฐาน “ใช้เอกสารราชการปลอม” ซึ่งมีอัตราโทษเท่ากับปลอมเอกสารราชการ
เรียบเรียง ผู้สื่อข่าวสยามนิวส์ นครบาล