จวกยับ ไลฟ์สดปล่อยปลาดุก 1 ตัน ทำลายระบบนิเวศ

จวกยับ ไลฟ์สดปล่อยปลาดุก 1 ตัน ทำลายระบบนิเวศ

จากกรณีที่ก่อนหน้านี้ เพจเฟซบุ๊ก เจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามัน ได้โพสต์ภาพปล่อยปลา พร้อมระบุข้อความไว้ว่า ปล่อยเรียบร้อย ชาวเน็ตห้ามกันไม่ทัน ปลาดุกตันกว่าๆ ลงแหล่งน้ำในจังหวัดบุรีรัมย์(สตึก)เรียบร้อย

หลังจากที่ได้มีการโพสต์ภาพดังกล่าวออกไป ต่างมีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก และเกิดกระแสดราม่าในทันที ส่วนใหญ่นำข้อมูลผลเสียของการปล่อยปลาดุกลงแหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะเป็นปลากินพืชผสมสัตว์ ปลาตัวเล็กจะถูกปลากลุ่มนี้กินปีละหลายล้านตัว

โดยจุดที่ปล่อยปลาดังกล่าวอยู่บริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อวังกรูด อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นจุดที่ชาวบ้านมักจะมาปล่อยปลาเป็นประจำ นายสมปอง ศรีสง่า อายุ 54 ปี เลขากลุ่มอนุรักษ์พืชพันธุ์สัตว์น้ำลุ่มแม่น้ำมูล เปิดเผยว่า ปลาที่มีคนเอามาปล่อยวันนี้เขาต้องการทำบุญสงกรานต์ เท่าที่เห็นเป็นปลาผสมระหว่างปลาช่อน ปลาหมอ ปลาดุกน่าจะมีนิดเดียว

เพราะเคยห้ามปล่อยปลาดุก เนื่องจากจะไปทำลายระบบนิเวศ ตนเป็นนักอนุรักษ์รู้ดี จะให้ปล่อยปลาดุกก็ต่อเมื่อเขาหาซื้อปลาช่อนกับปลาหมอไม่ได้ แต่จะให้ปล่อยครั้งละ 10-20 ตัวเท่านั้น จริงแล้วปลาดุกไม่ได้มุดลงใต้น้ำ จะลอยอยู่ผิดน้ำ โดยจะมีชาวประมงไปจับมาขายต่อไม่น่าจะกระทบมากนัก

ทางด้านชาวบ้านที่เห็นขณะมีคนเอาปลามาปล่อย เล่าว่า คนทำบุญมาด้วยกันประมาณ 15-20 คน มีการถ่ายภาพคุยกันอย่างมีความสุข ปลาที่เอามาใส่รถกระบะมา ตนอยู่ห่างออกไปไม่มั่นใจว่ามีปลาอะไรบ้าง เท่าที่เห็นเป็นปลาดุกเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะหลังปล่อยปลาจะเห็นหนวดปลาดุกลอยทั่วบริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อวังกรูด

ทั้งนี้จากข้อมูลของกรมประมง พบว่าสัตว์น้ำที่ไม่ควรปล่อยลงในแหล่งน้ำสาธารณะบ้านเรานั่นคือ สัตว์น้ำต่างถิ่น หรือที่เรียกว่าเอเลี่ยน สปีชีส์ (Alien Species) เช่น ปลาดุกอัฟริกัน ปลาดุกลูกผสม หรือ “บิ๊กอุย”, กุ้งเครย์ฟิช, เต่าญี่ปุ่น หรือ เต่าแก้มแดง, ปลาหางนกยูง, ปลากดเกราะดำ ปลากดเกราะลาย, ตะพาบไต้หวัน, ปลาทับทิม, ปลานิล, ปลาหมอสีคางดำ เป็นต้น

เอเลียนสปีชีส์ถูกนำเข้ามาปะปนภายในท้องถิ่นนั้น ๆ และสร้างความเสียหายให้แก่ระบบนิเวศของสิ่งแวดล้อมภายในท้องถิ่น เช่น การกินปลาพันธุ์ที่เคยอยู่ก่อนหน้าจนมีอัตราการเกิดที่ลดน้อยลง เป็นต้น

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ