บุกตรวจโรงงานซุกกากแคดเมียม สารก่อมะเร็ง อายัดไว้กว่า 1.5 หมื่นตัน

บุกตรวจโรงงานซุกกากแคดเมียม สารก่อมะเร็ง อายัดไว้กว่า 1.5 หมื่นตัน

วันที่ 6 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวสยามนิวส์ รายงานว่า กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมตำรวจ บก.ปทส. สถานที่เกิดเหตุ/ตรวจยึด บริษัทแห่งหนึ่งในพื้นที่ ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร

พฤติการณ์ มีผู้ร้องเรียนว่า มีบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดตาก ได้ขายกากแร่สังกะสีและกากแร่แคดเมียม ที่ฝังกลบในจังหวัดตากให้กับบริษัทดังกล่าวที่ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาครกว่าหมื่นตัน ซึ่งเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากกากแร่ดังกล่าวเป็นสารก่อมะเร็ง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันเข้าตรวจบริษัทดังกล่าว ผลการตรวจปรากฏว่า เป็นโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้กักเก็บและบดย่อยกากอุตสาหกรรมและหล่อหลอมอะลูมิเนียม โดยได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานทั้งสิ้น 3 ใบอนุญาต โดยทั้งหมดประกอบกิจการหล่อและหลอมโลหะประเภทต่างๆ

จากการตรวจสอบโรงงานแรก พบกากแคดเมียมและกากสังกะสีบรรจุอยู่ในถุงบิ๊กแบ็คสีขาวจำนวนประมาณ 1,300 ถุง และพบอยู่ภายนอกโรงงานอีก 100 ถุง เจ้าหน้าที่ได้ให้ผู้ประกอบการเคลื่อนย้ายกากแคดเมียมที่อยู่ภายนอก เข้าไปในโรงงานโดยเร็วที่สุด ส่วนโรงงาน ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกับโรงงานแรกพบกากอลูมิเนียมอยู่ภายในโรงงาน และมีกากแคดเมียมและกากสังกะสีจำนวน 9 ถุง เจ้าหน้าที่ได้ให้ผู้ประกอบการเคลือนย้ายกากแคดเมียมและกากสังกะสีจำนวน 9 ถุงนำไปเก็บไว้ที่โรงงานแรกโดยด่วน จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ไปตรวจสอบโรงงานที่สาม พบกากแคดเมียมและกากสังกะสี อีก 227 ถุง อยู่ภายในโรงงาน

ต่อมาสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 35 และมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 อายัดกากแคดเมียมและกากสังกะสีที่ทั้งหมดอยู่ภายในบริษัทดังกล่าวและมีคำสั่งระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายห้ามนำกากแคดเมียมและกากสังกะสีเข้าสู่กระบวนการผลิต ให้ปรับปรุงแก้ไขโรงงานเก็บและดำเนินคดีฐานประกอบการ(หลอมแคดเมียม)โดยไม่ได้รับอนุญาต และครอบครองวัตถุอันตราย ไว้โดยไม่ได้รับอนุญาต

โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครในฐานะผู้อำนวยการจังหวัดใช้อำนาจตามมาตรา 29 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2558 ได้ออกประกาศ ให้โรงงานดังกล่าวเป็นเขตภัยพิบัติห้ามมิให้บุคคลใดๆ เข้าไปอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการใดในพื้นที่โรงงานเป็นระยะเวลา 90 วัน ซึ่งทาง กก.5 บก.ปทส. จะได้ดำเนินการสืบสวนการกระทำความผิดอาญาที่เกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าวต่อไป

ผู้สื่อข่าวสยามนิวส์ รายงาน

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ