อันตราย! ผู้เชี่ยวชาญ เผยชัดเจน เสื้อผ้าแบบไหนที่ไม่ควรใส่ขึ้นเครื่องบิน

อันตราย! ผู้เชี่ยวชาญ เผยชัดเจน เสื้อผ้าแบบไหนที่ไม่ควรใส่ขึ้นเครื่องบิน

คนส่วนใหญ่มักจะเชื่อว่าเมื่อต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน ผู้โดยสารควรจะสวมใส่เสื้อผ้าที่ให้ความสะดวกสบายเป็นหลัก โดยเฉพาะผู้ที่ต้องเดินทางเป็นระยะเวลานาน ๆ มากกว่า 10 ชม. ขึ้นไป เกี่ยวกับเรื่องนี้ คริสทีน เนโกรนิ พิธีกรรายการโทรทัศน์และนักเขียนเรื่องแนวท่องเที่ยวชื่อดังชาวอเมริกัน ผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเดินทางด้วยเครื่องบินกลับมีความเห็นที่แตกต่างออกไป

โดยเธอ ชี้ว่า เราควรทำความเข้าใจถึงวัสดุที่ตัดเย็บเสื้อผ้า ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกชุดที่จะสวมขึ้นเครื่องบิน การสวมกางเกงเลกกิ้งหรือกางเกงโยคะแบบที่สาว ๆ นิยมนั้น อาจจะสบายก็จริง แต่เธอกลับมองว่า กางเกงประเภทนี้เสี่ยงต่ออันตราย

หากเกิดเหตุที่เราต้องหนีออกจากห้องโดยสารที่กำลังเกิดไฟไหม้หรือต้องผ่านพื้นที่ที่ไฟกำลังไหม้หลังจากออกมาจากเครื่องบินแล้ว เนื่องจากผลิตด้วยวัสดุที่เป็นใยสังเคราะห์ มันจะติดไฟได้ง่ายและเมื่อติดไฟแล้วก็มักจะถอดออกได้ยาก รวมถึงควรสวมเสื้อผ้าที่กระชับ พอดีตัว แทนเสื้อผ้าที่หลวมโพรก และควรสวมเสื้อผ้าที่ผลิตจากคอตตอนหรือใยฝ้าย หรือเส้นใยอื่น ๆ ที่มาจากธรรมชาติมากกว่า

นอกจากนี้ นักเขียนหญิงอาวุโส ยังแนะอีกว่า ผู้โดยสารเครื่องบินไม่ควรถอดถุงเท้า รองเท้าออก ระหว่างอยู่บนเครื่อง โดยเฉพาะช่วงที่กำลังขึ้นบินหรือลงจอด เหตุเพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินอะไรขึ้น พื้นห้องโดยสารอาจจะร้อนจัดหรือเย็นจัด อาจจะมีน้ำมันไหลนองพื้นหรือมีไฟไหม้ ซึ่งถ้าหากเราสวมรองเท้าไว้ ก็จะปกป้องเท้าเราไว้ได้ดีกว่า ถ้าจะให้ละเอียดขึ้นไปอีก ควรเลือกสวมรองเท้าผ้าใบแทนรองเท้าส้นสูง เลือกรองเท้าที่ผลิตด้วยวัสดุธรรมชาติแทนวัสดุสังเคราะห์

นอกจาก เนโกรนิแล้ว ยังมีพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ซึ่งเป็นเจ้าของช่องบน TikTok @tommycimato ที่ออกมาให้คำแนะนำแบบผู้อยู่วงใน ระบุว่า ผู้โดยสารเครื่องบินไม่ควรสวมกางเกงขาสั้น เพื่อปกป้องผิวของเราจากการสัมผัสโดนเชื้อโรคที่อยู่บนเบาะโดยสารหรือที่อื่น ๆ

นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำด้านอื่น ๆ อีก เช่น อย่าลืมดื่มน้ำให้พอเหมาะ ไม่ต่ำกว่า 16 ออนซ์ (ราว 500 มิลลิลิตร) อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ อย่าหลับโดยพิงหรือซบศีรษะที่หน้าต่างห้องโดยสารเพราะเป็นอีกจุดหนึ่งที่สกปรกและเต็มไปด้วยเชื้อโรค และหากรู้สึกไม่สบาย ต้องรีบแจ้งพนักงานบนเครื่องบินในทันที อย่าทนเก็บอาการไว้

ข้อมูล ladbible.com

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ