ชาวสวนยางยะลา เฮ ยางปรับราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง เผยช่วงนี้เข้าสู่หน้าแล้ง ยางผลัดใบ น้ำยางพาราออกน้อย

ชาวสวนยางยะลา เฮ ยางปรับราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง เผยช่วงนี้เข้าสู่หน้าแล้ง ยางผลัดใบ น้ำยางพาราออกน้อย

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 67ภายหลังจากราคายางพาราได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั่วประเทศ ล่าสุดทางสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดยะลา ครอบคลุมพื้นที่ จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส ประกาศราคาซื้อขายยาง ประจำวันที่ 22 มีนาคม 2567 ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 85.36 บาท/กก. ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคา 88.56 บาท/กก. ยางก้อนถ้วย ราคา 56.50 บาท/กก. น้ำยางสด ราคา 78.50 บาท/กก.

โดยบรรยากาศหลังราคายางปรับราคาขึ้นในพื้นที่อำเภอเบตง นายสรรเสริญ จูทะมงคล ผู้ประกอบการรับซื้อยางพารา เปิดเผยว่า ช่วงนี้ยางพารายังผลัดใบอยู่ก็ไม่คึกคักเท่าไหร่ ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่มียางอ่อนก็ยังคงปิดหน้ายาง ส่วนเกษตรกรชาวสวนที่มีต้นยางพาราแก่หรือมีอายุมากว่า 10 ปี ก็ยังคงตัดกันอยู่ แต่ไม่ได้ทำแผ่น ในอำเภอเบตงส่วนใหญ่เกษตรกรจะทำน้ำยางสดและทำเป็นขี้ยางก้อน สาเหตุที่เกษตรกรไม่ทำยางแผ่น เพราะไม่มีคนงานมาทำยางแผ่น ซึ่งคนงานเป็นตัวเลือก โดยราคาน้ำยางสดในพื้นที่อำเภอเบตง อยู่ที่ ราคา 78.50 บาท/กก. ส่วนขึ้ยางก้อนอยู่ที่ ราคา 57 - 58 บาท/กก. ซึ่งขึ้นอยู่กับการเปิดราคายางพาราในแต่ละวันของบริษัทเอกชน

ด้านนายอุสมาน สาลัง ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย สาขาเบตง เปิดเผยภายหลังจากราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นถึง กก.ละ 90 บาท อำเภอเบตงนั้นเป็นที่ทราบกันว่าเป็นเมืองยางพารา (Rubber Cities) มีสวนยางพาราอยู่ สามแสนกว่าไร่ ที่มีเอกสารสิทธิและที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ส่วนภาพรวมของอำเภอเบตงเวลานี้เป็นช่วงที่เกษตรกรหยุดทำการกรีดยาง เนื่องจากใบยางยังอ่อนอยู่ ส่วนเกษตรกรที่มียางแก่ก็กรีดอยู่ ส่วนเกษตรกรที่มีสวนยางพาราอยู่ 10 กว่าปีก็ยังคงหยุดตัดอยู่ เลยทำให้สถานการณ์ของยางพาราเบตงยังคงมีปริมาณน้อยอยู่

ส่วนด้านราคายางพารานั้นกระเตื้องขึ้น จากที่ว่าราคา 40 กว่าบาท 50 กว่าบาท เวลานี้ราคาน้ำยางสดที่เบตงวันนี้อยู่ 70 กว่าบาทต่อกก. ส่วนยางแผ่นรนควันนั้นอยู่ที่ 90 กว่าบาทแล้ว ทำให้รายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางพาราดีขึ้นมากซึ่งมีผลพลอยได้กับรัฐบาลที่มาช่วยดูแลและกำกับในเรื่องนี้ด้วย

ส่วนหน้าที่หลักของการยางพาราแห่งประเทศไทย เป็นหน้าที่หลักอยู่แล้ว ในทุกวันนี้สวนยางพาราของเกษตรกรจากที่ผ่ามาไม่มีคนงานมารับจ้างกรีดยาง ทำให้สวนยางพารารกร้าง ซึ่งทุกวันนี้เริ่มทยอยเปิดหน้ายางพารากันใหม่แล้วหลังราคายางพาราปรับขึ้น เนื่องจากส่วนแบ่งระหว่างคนงานกับเจ้าของสวน อยู่กันได้ ถึงในแต่ละเดือนสามารถกรีดยางพาราได้ 10 กว่าต่อเดือนก็ยังอยู่ได้ ถ้าราคายางพารายังคงที่อยู่แบบนี้ที่ราคา 90 – 95 บาท ต่อ กก.

ที่ผ่ามาสวนยางพาราแปลงใหญ่จะไม่มีคนงานเข้ามารับจ้างกรีดยาง สาเหตุมาจากโรคใบยางพาราล่วงและราคายางพาราและเรื่องฝนตก ต่อเนื่อง ที่ผ่ามา 3-4ปีชาวสวนยางมีปัญหามากซึ่งขณะนี้ดีขึ้นมากหากราคาอยู่แบบนี้สามารถช่วยเกษตรกรชาวสวนยางพารา ได้ดีมาก แต่ก็ไม่ทราบว่าจะยืนราคาได้นานเท่าไหร่ก็ยินดีกับเกษตรกรชาวสวนยางพารา ซึ่งใน 4 ตำบลของอำเภอเบตง จะทำยางพาราขายเป็นน้ำยางและยางก้นถ้วยหรือขี้ยาง ส่วนยางแผ่นร่นควันนั้นส่วนมากจะจัดตั้งเป็นกลุ่มสหกรณ์ซึ่งมีการยางพาราแห่งประเทศไทย สาขาเบตง ดูแลอยู่โดยมีสหกรณ์สุตัน สหกรณ์บ่อน้ำร้อน สหกรณ์ตาเนาะแมเราะ สหกรณ์ยะรม ก็ทำให้สมาชิกสหกรณ์มีรายได้เพิ่มขึ้น คือส่วนต่างจากการขายน้ำยางสดและให้สหกรณ์ผลิตทำให้เกิดส่วนต่าง 10 กว่าบาทต่อ กก. ถือว่ารายได้เพิ่มขึ้นของสมาชิก

ความจริงเรื่องแผ่นยางพาราที่ยาวที่สุดก็เป็นเอกลักษณ์ของอำเภอเบตง ในความจริงเป็นจริงที่ต้องทำยางแผ่นยาวเนื่องจากสวนยางพาราของเจ้าของสวนมีพื้นที่ค่อนข้างไกล การขนส่งลำบากมาก เลยทำให้เจ้าของสวนยางพาราต้องทำแผ่นยางพาราที่ยาวประมาณ 4 - 5 เมตร ซึ่งที่อื่นไม่มีทำยางแผ่นยาวขนาดนี้ สาเหตุที่ต้องทำแผ่นยางพารายาว มาจากการขนส่งลำบากหากทำแผ่นยางพาราเหมือนทั่วไปคือแผ่นเล็กมันไม่คุ้มเพราะสวนยางพารา ส่วนมากจะอยู่บนภูเขาสูง

อีกประเด็นก็คือเจ้าของสวนยางพาราแปลงใหญ่ส่วนมากจะได้น้ำยางพารามา 10 กว่าแกลลอนน้ำหนัก กว่า 100 กก.หากทำยางแผ่นเล็ก 1 กก.ทำให้เสียเวลาและไม่คุ้มในการขนส่งในวันหนึ่งก็ทำไม่เสร็จหากทำยางพาราเป็นแผ่น เกษตรกรจึงได้ประยุกต์โดยทำให้น้ำยางใน 1 แกลลอนจะทำยางพาราได้ 1 – 2 แผ่นเท่านั้นแต่ยาง 1 แผ่นมีน้ำหนักอยู่ 7 – 8 กก.ต่อแผ่น ซึ่งในวันนี้ยังมีทำกันอยู่ แต่มีน้อยแล้ว หลังจากมีถนนหนทางที่ทาง อบต.แต่ละพื้นที่พัฒนาขึ้นทำให้สะดวกในการขนส่งผลผลิตออกจากสวนยางพารา ทำให้ชาวสวนยางพาราเปลี่ยนจากการทำแผ่นยางพารามาขายน้ำยางสดกันแทนในปัจจุบัน

ส่วนกรณีที่ชาวสวนยางพาราได้โค่นยางพาราหันมาปลูกทุเรียนแทนนั้น นายอุสมาน สาลัง ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย สาขาเบตง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทางการยางฯได้ส่งเสริมพืชเชิงเดี่ยวแต่ในปัจจุบันทางการยางฯได้ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางปลูกพืชแบบไม่ยืนต้น คือที่อำเภอเบตงส่วนมากจะเปลี่ยนแปลงสาเหตุจากราคายางพาราตกต่ำ เลยมาเปลี่ยนเป็นสวนทุเรียน ซึ่งตอนนี้ที่มาขอทุนกับการยางแห่งประเทศไทย สาขาเบตง ในปีงบประมาณ 2567ทะลุเป้าจากที่อนุมัติมา 1,000 ไร่ แต่ในปีนี้มีเกษตรกรชาวสวนยางยื่นของทุนกว่า 4,000 กว่าไร่เลยเป็นปัญหาในเรื่อง น้ำ ที่จะรดน้ำต้นทุเรียนได้เกิดปัญหาแล้ว คือน้ำไม่เพียงพอโดยเฉพาะในช่วงนี้เป็นหน้าแล้งด้วย ซึ่งการปลูกทุเรียน ต้องใช้น้ำไม่เหมือนการปลูกยางพารา นี่คือปัญหาในปัจจุบันของเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่หันมาปลูกทุเรียน ส่วนทางการยางฯก็ได้ส่งเสริมเพราะเป็นรายได้เสริมจากอาชีพสวนยางพารา เพราะในทุกวันนี้คนปลูกยางพารา 10 ไร่กับคนปลูกทุเรียน 10 ไร่ซึ่งมีรายได้ต่างกันมากเลย แต่การปลูกทุเรียนมีต้นทุนที่สูงมากเลยทีเดียว แต่มันเห็นภาพที่ทุเรียน กก.ละ 100 กว่าบาท ส่วนยางพาราที่ผ่านมา กก.ละ 30 บาท 3 กก. 100 บาท ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ต้องเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงก็คิดว่าดีเพราะมันรายได้ของเกษตรกรที่จะสามารถปลูกพืชยั่งยืน คือพืชร่วมยางพารา มีการผสมผสานคือมียางพารา มีสวนผลไม้ เพราะถ้าหากราคายางพาราตกต่ำก็สามารถไปขายผลไม้ ซึ่งเป็นตัวเลือกของเกษตรกรชาวสวนยางพารา โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกทุเรียน มีพื้นที่ สี่หมื่นกว่าไร่แล้วและในอนาคตคาดว่าอาจจะมีเพิ่มขึ้นเพราะเจ้าของสวนแต่ละเจ้ามีสวนแปลงใหญ่ทั้งนั้น ซึ่งต่อไปพื้นที่ปลูกทุเรียนของอำเภอเบตง จะเป็นพื้นที่ปลูกทุเรียนมากกว่า ที่อื่นเพราะเป็นเมืองเศรษฐกิจด้วย ดินก็ดี อากาศก็ดี ซึ่งเป็นตัวเลือกในการปลูกทุเรียนในอำเภอเบตง ของเกษตรกรชาวสวนยางพารา ในวันนี้

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ