แม่ค้าโอด เทศบาลส่งหนังสือขึ้นค่าเช่าแผงในตลาด 5 เท่า เหมือนซ้ำเติมกันในยุคที่เศรษฐกิจไม่ดี ล่าสุดปิดไปแล้ว 12 ร้าน

แม่ค้าโอด เทศบาลส่งหนังสือขึ้นค่าเช่าแผงในตลาด 5 เท่า เหมือนซ้ำเติมกันในยุคที่เศรษฐกิจไม่ดี ล่าสุดปิดไปแล้ว 12 ร้าน

วันที่ 15 มี.ค. 67 เวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องทุกข์จากพ่อค้าแม่ค้าที่ตลาดสดเทศบาลนครนนทบุรี ต.สวนใหญ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี ที่ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า เนื่องจากทางเทศบาลนครนนทบุรีได้ส่งหนังสือต่อสัญญาค่าเช่าแผงซึ่งในตลาดแห่งนี้มีแผงขายของประมาณกว่า 1,000 แผง และมีการขึ้นค่าเช่าแผงในตลาดเกือบ5เท่า เคยจ่ายเพียงปีละ 15,000 บาท ตอนนี้ปรับขึ้นค่าเช่าแผงใหม่ต้องจ่ายปีละ 60,000 บาท บางร้านต้องจ่ายปีละเป็น 100,000 บาท เหมือนถูกซ้ำเติมในช่วงที่เศรษฐกิจย่ำแย่ แถมตลาดก็มีความทรุดโทรมไม่เคยได้รับการซ่อมแซมมาเป็น 10 ปี และมีการปรับขึ้นค่าเช่าตั้งแต่เมื่อช่วงเดือน ต.ค. 2566 แต่หนังสือจากทางเทศบาลส่งมาแจ้งเดือน ธ.ค.66 ทำให้เกือบทั้งหมดโดนเรียกเก็บค่าปรับที่จ่ายล่าช้าถึง 5 เดือน ในอัตราค่าเช่าใหม่

ซึ่งในตลาดจะเก็บค่าเช่าแตกต่างกันตามโซน ซ้ำหนักเคยรวมตัวลงรายชื่อกว่า40คน เพื่อเข้าพบเจ้าหน้าที่เทศบาลและผอ.กองคลัง เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ช่วยลดค่าเช่าแผงลงอีกซักหน่อย แต่เจ้าหน้าที่เทศบาลกลับบอกว่าทางเทศบาลมีงบประมาณที่จะจัดการตลาดใครจ่ายไม่ไหวก็ออกไป หลังติดป้ายประกาศมีร้านค้าที่สู้ราคาไม่ไหวต้องเซ้งร้านไปแล้วถึง12ร้าน แถมมีข่าวลือว่าพื้นที่ตลาดเป็นของกรมธนารักษ์ที่ทางเทศบาลเช่าอยู่และทางเทศบาลค้างค่าเช่าอยู่จึงมาเรียกเก็บค่าเช่าที่สูงขึ้นกับพ่อค้าแม่ค้าเพื่อนำเงินไปจ่ายในส่วนที่ค้างกับกรมธนารักษ์

นาง อาภรณ์ กันเจียก (อ้อย) 47 ปี (สวมเสื้อยืดสีดำ)แม่ค้าขายไข่ ขายอยู่ที่ตลาดมา 30 กว่าปี กล่าวว่า เมื่อก่อนตนจ่ายค่าเช่าปีละ 15,000 บาท แล้วมีหนังสือจากทางเทศบาลส่งมาที่บ้านให้จ่ายค่าเช่าใหม่เป็นปีละ 64,800 บาท ซึ่งโซนที่แผงของตนอยู่เป็นบริเวณด้านหน้าตลาดคิดค่าแผงโดยนับเสา เสาละ900บาท ที่แผงของตนมี 6 เสา ก็ตกประมาณเดือนละ 5,400 บาท 1ปีก็ต้องจ่ายค่าเช่า 64,800 บาท ยังไม่รวมภาษีย้อนหลังอีก5เดือนประมาณ 6,000 กว่าบาท และให้จ่ายรวมยอดทั้งหมด 15เดือน เป็นเงิน70,000กว่าบาท โดยกำหนดให้จ่ายวันที่ 15 มี.ค.นี้เป็นวันสุดท้ายซึ่งตนได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ดูจากยอดขายแล้วคนที่เข้ามาเดินซื้อของในตลาดก็น้อย ยอดขายน้อยลงครึ่งต่อครึ่ง โดยมีการส่งจดหมายแจ้งฉบับแรกประมาณวันที่ 18 ธ.ค.66 และฉบับที่ 2 เดือน ก.พ.67 ให้จ่ายค่าเช่ารวมแล้ว70,000กว่าบาท ซึ่งต่อมาทางคณะกรรมการของตลาดและพ่อค้าแม่ค้าได้รวมตัวยื่นหนังสือขอความอนุเคราะห์เรื่องของผ่อนค่าเช่าจากเก็บรายปี เป็นรายเดือนหรือ3เดือนก็ได้ กับผู้ใหญ่ท่านนึงของหน่วยงานราชการแต่ได้รับคำตอบมาว่า เขามีงบประมาณที่จะรื้อทั้งตลาดได้เลย ใครจ่ายไม่ไหวก็ออกไป ตนแค่อยากจะบอกว่าตลาดแห่งนี้มีแม่ค้ากว่า1,000 คน บางคนเขาขายของหาเลี้ยงครอบครัว ไม่ใช่ไม่ให้ความร่วมมือแต่อยากให้ช่วยเห็นใจบ้างเจอกันคนละครึ่งทางได้ไหม ช่วยผ่อนผันให้หน่อยจะได้ไหม ท่านส่งจดหมายมาเดือน ก.พ.แต่ให้จ่ายวันที่15 มี.ค.เป็นวันสุดท้ายระยะเวลาแค่เดือนเดียวต้องหาเงิน70,000กว่าบาท บางร้านต้องจ่ายเป็น100,000 ก็อยากขอความอนุเคราะห์ให้ช่วยผ่อนผันในเรื่องนี้

น.ส.มณฑา สุขชูศรี (ป้าเขียด) อายุ 70 ปี (สวมเสื้อเชิ๊ตสีขาวลายดอกไม้) ขายข้าวเหนียวมะม่วงมา 40 ปีแล้ว กล่าวว่าปัญหาที่เป็นอยู่ในตอนนี้คือการเก็บค่าเช่าแผงที่เก็บเป็นรายปีแบบนี้ร้านของตนอยู่โซนหน้าตลาดมีหลายแผงก็จ่ายปีนึง 100,000 กว่าบาท ซึ่งหากเก็บเป็นรายเดือนยังพอทยอยจ่ายให้ได้ แต่เก็บปีนึงครั้งนึง แบบนี้ใครจะหาเงินก้อนได้ โชคดีที่ตนพอมีอยู่เมื่อวานจึงได้เดินทางไปจ่ายและทำสัญญาเช่า แม่ค้าบางคนเขาไม่มีเหมือนเรา ก็เจอปัญหาและเครียดไม่รูจะหาเงินมาจ่ายยังไง การค้าขายช่วงนี้ก็แย่ลูกค้าไม่เยอะเหมือนแต่ก่อน ยอดขายหายไปครึ่งต่อครึ่ง ซ้ำตนยังมีโรคประจำตัวเยอะทั้งเป็นโรคหัวใจ เป็นโรคแพ้ภูมิ เบาหวาน ความดัน ข้อเข่าเสื่อม เมื่อก่อนปกติขายได้ 20,000 บาท ทุกวันนี้ขายได้วันละ 5,000-6,000 บาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆที่ต้องจ่ายอีกนะ ค่าน้ำค่าไฟ ค่าลูกน้อง ค่าใช้จ่ายในบ้านอีก ส่วนตัวมองว่าการขึ้นค่าเช่าครั้งนี้มากเกินไป ขึ้นเป็น5เท่าของค่าเช่าเดิม เหมือนซ้ำเติมพ่อค้าแม่ค้ามากกว่า ตอนนี้ขายของยากอยู่แล้วต้องมาห่วงเรื่องค่าเช่าอีก

ทางด้าน น.ส.วิภาพร เมตตาจิตโต พี่โอ๋ (สวมเสื้อสีดำใส่แว่น)อายุ 46 ปี ขายลูกชิ้นไส้กรอกในตลาดมาเกือบ 30ปี กล่าวว่า ร้านของตนก็ได้รับผลกระทบค่อนข้างเยอะ ร้านมีทั้งหมด 6 แผงเมื่อก่อนจ่ายค่าเช่าแผงละ 120 บาท ปีนึงก็จ่ายค่าเช่าไม่ถึง10,000 บาท แต่ตอนนี้ปรับค่าเช่าใหม่เป็นแผงละ 500 บาท จ่ายปีนึงก็ 36,000 บาท ขึ้นเพราะสาเหตุอะไรก็ไม่รู้ เพราะตงหน้าต่างตลาดที่แตกก็ไม่มีการซ่อมแซม หลังคาก็รั่ว พื้นก็ไม่ค่อยเข้ามาทำความสะอาด ต้องให้เด็กๆที่ร้านทำกันเอง ยามก็ไม่มีของหายก็บ่อยแถมไม่มีใครรับผิดชอบ ในส่วนของขึ้นค่าเช่าตนมองว่าสามารถขึ้นได้ แต่ควรขึ้นตามความเหมาะสม แบบนี้จาก120 เป็น 500ต่อแผง ตนว่ามันเยอะเกินไปมันขึ้นเป็น3เท่าจากเดิม แล้วมาอ้างว่าตลาดที่อื่นเขาก็ขึ้น ก็ต้องดูว่าตลาดที่อื่นเขาเป็นยังไง ตอนนี้ค่าใช้จ่ายต่างๆเพิ่มขึ้น ค่าแรงก็ต้องเพิ่มให้ลูกจ้าง มันไม่มีอะไรที่ลดลงเลย แถมมีเก็บย้อนหลัง5เดือนช่วงโควิดอีก นี้เขาช่วยแล้วหรอ แล้วเมื่อวานตนยังโดนเก็บย้อนหลังอีก15เดือน เป็นเงิน12,000 บาท หลังจากจ่ายค่าเช่าไปแล้ว 40,000กว่าบาท ตนก็ยังงงอยู่เลยว่าคืออะไร

ต่อมาเมื่อเวลา 15.00 น. ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่สำนักงานเทศบาลนครนนทบุรี เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงถึงเรื่องราวดังกล่าวกับ น.ส.สุวรรณี แสงไชย ผอ.สำนักคลัง

น.ส.สุวรรณี แสงไชย ผอ.สำนักคลัง กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ในสัญญาเดิมนั้นหมดไปแล้วตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย.66 ต่อมาก็ได้มีการเรียกคณะกรรมการจัดหาประโยชน์และทรัพย์สินและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องมาประชุมเพื่อปรับราคาค่าเช่าแผงที่ตลาด เนื่องจากว่าไม่ได้มีการปรับอัตราค่าเช่ามานานแล้วตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งเป็นระยะเวลากว่า30กว่าปีแล้ว ซึ่งอัตราค่าเช่าเดิมอยู่ที่แผงละ 75 ต่อเดือน ในกรณีที่เป็นผู้เช่ารายเเรก และหากมีการโอนสิทธิ์ให้บุคคลภายนอกหรือทายาทครั้งที่1 ก็จะเก็บอัตราแผงละ 150 ต่อเดือน และหากมีการโอนสิทธิ์ต่อครั้งที่2จะเก็บค่าเช่าแผงละ 200 บาทต่อเดือน ในสัญญาเดิม ต่อมาหลังมีการประชุมลงมติจึงได้มีการเรียกเก็บค่าเช่าใหม่ในอัตราที่ผู้เช่ารายแรกอยู่ที่แผงละ 400บาทต่อเดือน และหากมีการโอนสิทธิ์ให้บุคคลภายนอกหรือทายาทครั้งที่1 จะเก็บอัตราแผงละ 600บาทต่อเดือน และหากมีการโอนสิทธิ์ต่อในครั้งที่2ก็จะเก็บอัตรา แผงละ900บาทต่อเดือน โดยสูงสุดจะอยู่ที่ 900บาทซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาประเมินอัตราค่าเช่าเพื่อให้เป็นธรรมทั้งสองฝ่ายทั้งผู้ให้เช่าและผู้เช่าและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ทั้งนี้ได้มีการลงพื้นที่สำรวจตามตลาดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตลาดสดเทศบาลบางบัวทอง ตลาดสดเทศบาลปากเกร็ดและไปถึงตลาดสดปทุมธานี โดยค่าเช่าที่ปรับขึ้นมาตรงนี้ถือว่ายังน้อยกว่าตลาดอื่นๆอยู่มาก ในส่วนที่พ่อค้าแม่ค้าบอกว่าค่าเช่าแพงแต่สภาพตลาดนั้นดูทรุดโทรมไม่มีการบำรุงรักษาทางเทศบาลเคยลงพื้นที่ไปเพื่อที่จะปรับปรุงและเคยจะทำตลาดให้ใหม่เป็นตลาด5ชั้น แต่ทางพ่อค้าแม่ค้ากลับไม่ให้ความร่วมมือในส่วนนี้ทำให้ไม่สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ ในส่วนที่จะให้ดูแลแก้ไขซ่อมแซมนั้น ก่อนหนานี้ทางเทศบาลเก็บค่าเช่าเพียงแผงละ 75 บาทต่อเดือน งบบำรุงรักษาก็อาจจะไม่เพียงพอที่จะดำเนินการให้ทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาทางเทศบาลเก็บค่าเช่าในราคาที่ถูกมาก ในเรื่องของเอกสารที่ผู้ค้าบอกว่า สัญญาหมดเดือน ต.ค.66 แต่ทางเทศบาลส่งเอกสารมาเดือน ธ.ค.66 นั้นขอชี้แจงว่า ก่อนสิ้นสุดสัญญา60วันทางเทศบาลนั้นได้ออกหนังสือแจ้งไปถึงผู้เช่า ทั้งจดหมายส่งไปที่บ้าน ทั้งมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปประชาสัมพันธ์ที่ตลาด และนำใบประกาศแจ้งไปแจกและติดที่แผงของผู้เช่าทุกรายแต่อาจจะมีการสื่อสารผิดพลาดทำให้ผู้เช่าเข้าใจผิดไป

น.ส.สุวรรณี กล่าวต่ออีกว่า ตนรู้สึกกังวลใจเนื่องจากตนเพิ่งมาปฏิบัติหน้าที่ได้เพียงแค่4เดือนเท่านั้น จึงอยากจะขอเวลาตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ เพราะคนที่มาต่อสัญญาเทียบเป็นเปอร์เซนก็ประมาณ 70 % เหลือคนที่ติดปัญหาต่างๆไม่ได้เข้ามาทำสัญญาแค่กลุ่มน้อยเท่านั้น บางคนอาจจะเข้าใจผิดคิดว่าทางเทศบาลบังคับให้ต่อ3ปีบ้าง ให้ต่อได้ปีต่อปีบ้าง ทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน จริงๆแล้วทางเทศบาลอำนวยความสะดวกให้ผู้เช่าสามารถต่อได้ทุกแบบทั้ง1ปี หรือ3ปี โดยได้รับเอกสารสัญญาเช่าทุกกรณี เพียงแต่หากผู้เช่าคนไหนสะดวกทำสัญญาเช่า3ปีทางเทศบาลก็พร้อมอำนวยความสดดวกให้ หรือติดปัญหาเรื่องกำลังทรัพย์จะต่อ1ปี ทางเทศบาลก็พร้อมอำนวยความสะดวกให้เช่นกัน ตอนนี้กลัวว่าจะมีผู้เช่าบางคนเอาแผงไปปล่อยเช่าต่อในราคาที่สูงกว่าที่ทางเทศบาลเก็บถือว่าเป็นการเอาเปรียบผู้อื่น และเป็นการทำผิดสัญญาในเรื่องของการเช่าช่วง ซึ่งทางเทศบาลามารถยกเลิกสัญญาได้ทันทีและปล่อยให้ผู้เช่ารายอื่นที่สนใจมาประมูลเช่าแผงที่ตลาดได้ทันที ในส่วนของผู้ที่ติดปัญหาเรื่องกำลังทรัพย์หรือยังไม่มีเงินมาจ่ายค่าเช่านั้นทางเทศบาลจะนำเรื่องของการผ่อนผันและอนุโลมเข้าที่ประชุมเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนต่อไป.

นาง บุศยรินทร์ สุพัฒนารังษี ผอ.ส่วนพัฒนารายได้ ขอชี้แจงในเรื่องของข่าวลือว่าทางเทศบาลได้ติดค้างค่าเช่าที่ตลาดกับทางกรมธนารักษ์และมาเรียกเก็บค่าเช่าที่สูงขึ้นและผลักภาระมาให้พ่อค้าแม่ค้าในตลาด ว่าข้อมูลในส่วนนี้ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ทางเทศบาลจ่ายค่าเช่าที่ตรงทุกเดือน เพราะถ้าเลยกำหนดทางกรมธนารักษ์แจ้งมาทางเทศบาลจะต้องเสียค่าปรับ เพราะฉะนั้นทางเทศบาลจะไม่ละเลยตรงนี้เด็ดขาด และไม่มีหนี้ค้างกับทางกรมธนารักษ์ก็ขอยืนยันตรงนี้ว่าทางเทศบาลไม่ได้ค้างค่าเช่ากับทางธนารักษ์แต่อย่างใด และงบประมาณที่ใช้ก็คนละส่วนกัน

ผู้สื่อข่าวสยามนิวส์ จังหวัด นนทบุรี รายงาน

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ