NASA พบดวงจันทร์ยูโรปา สามารถผลิตออกซิเจนได้มหาศาล วันละ 1,000 ตัน

NASA พบดวงจันทร์ยูโรปา สามารถผลิตออกซิเจนได้มหาศาล วันละ 1,000 ตัน

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศ CBS NEWS ได้มีการรายงานว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนา Jet Propulsion Laboratory (JPL) ในความดูแลขององค์กรการบินและอวกาศแห่งสหรัฐ หรือ นาซา (NASA) ได้เผยแพร่ผลงานจากการศึกษาครั้งล่าสุด เกี่ยวกับดวงจันทร์บริวาร ยูโรปา ซึ่งเป็น 1 ในดวงจันทร์บริวาร 95 ดวง ของดาวพฤหัสบดี ที่มีความสามารถในการผลิตก๊าซออกซิเจนได้ในปริมาณที่สูงถึง 1,000 ตัน ภายในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง

ซึ่งปริมาณของก๊าซออกซิเจนมากมายขนาดนี้ ถือว่าพอเพียงจะให้มนุษย์ 1 ล้านคน ใช้ในการหายใจได้อย่างสบายในเวลา 1 วัน และเป็นปริมาณที่สามารถส่งผลกระทบต่อมหาสมุทรใต้ดินบนดวงจันทร์ยูโรปา โดยประเมินว่าน่าจะมีปริมาณของน้ำในมหาสมุทรมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทุกแห่งบนโลกรวมกันถึง 2 เท่า อย่างไรก็ตาม นักวิจัยเผยว่า ปริมาณออกซิเจนที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ ต่ำกว่าระดับที่คาดเอาไว้ในตอนแรก

ทั้งนี้ ยูโรปา ซึ่งเป็นดวงจันทร์ที่อยู่ใกล้ดาวเคราะห์ พฤหัส ในลำดับที่ 6 มีขนาดเล็กกว่าโลกของเราเพียงเล็กน้อย และคาดว่าน่าจะมีลักษณะของชั้นแมนเทิล (ชั้นที่อยู่ถัดจากเปลือกโลกที่อยู่บนสุด) เป็นหินและมีแก่นหรือชั้นใจกลางดวงดาวเป็นโลหะเหมือนกับโลก

แม้ว่าดวงจันทร์ยูโรปาจะสามารถผลิตก๊าซออกซิเจนได้วินาทีละ 26 ปอนด์ แต่ทีมวิจัยได้ประเมินก่อนหน้านี้ว่า ยูโรปาน่าจะผลิตก๊าซออกซิเจนได้วินาทีละเกือบ 2,000 ปอนด์เลยทีเดียว โดยการประเมินครั้งใหม่นี้ เป็นการคำนวณโดยอาศัยฐานมาจากปริมาณก๊าซไฮโดรเจน ที่ยูโรปาปล่อยออกมาที่พื้นผิวของชั้นเปลือกนอกของดาว ที่มีลักษณะเป็นชั้นน้ำแข็ง ซึ่งมียานสำรวจ จูโน ที่โคจรผ่านยูโรปาเมื่อปี 2565 ช่วยรวบรวมข้อมูล

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าดวงจันทร์ยูโรปาจะมีก๊าซออกซิเจนได้เป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นสถานที่ ๆ มนุษย์อย่างเราจะสามารถอาศัยอยู่ได้อย่างปลอดภัย เพราะสภาพหลายอย่างไม่ได้อำนวยต่อการอยู่อาศัย เช่น พื้นผิวของยูโรปามีรังสีอวกาศอันเข้มข้น ต่อให้เป็นมนุษย์ที่สวมชุดนักบินอวกาศเต็มยศ ก็ไม่สามารถทนทานรังสีนี้ได้เกิน 1 วัน

ในขณะที่ NASA ได้ส่งยานสำรวจจูโนไปยังดาวพฤหัสบดีเมื่อปี 2554 และมันก็ทำหน้าที่สำรวจดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะมาตั้งแต่ปี 2559 และยังวางแผนว่าจะเปิดตัวภารกิจ ยูโรปาคลิปเปอร์ (Europa Clipper) ในวันที่ 10 ตุลาคม 2567 เพื่อสำรวจดวงจันทร์ยูโรปาโดยเฉพาะ และค้นหาว่า จะสามารถดัดแปลงสภาพดาวบริวารที่มีชั้นน้ำแข็งปกคลุมเต็มไปหมดนี้ เพื่อให้เหมาะสมแก่การอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหรือไม่ แม้ว่ามันจะยังไม่ใช่ดวงดาวที่ มีแวว มากที่สุด ที่จะกลายเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ได้ในอนาคต

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ