4 สส.พรรคก้าวไกล ลาออกยกแผง พร้อมเผยสาเหตุ

4 สส.พรรคก้าวไกล ลาออกยกแผง พร้อมเผยสาเหตุ

เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2567 ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล และรศ.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทย และอันดามัน หรือโครงการแลนด์บริดจ์ ในสัดส่วนพรรคก้าวไกล แถลงภายหลังการประชุมกมธ.โครงการแลนด์บริดจ์ โดยนายจุลพงศ์ กล่าวว่า

สส.พรรคก้าวไกล ที่เป็นกมธ.โครงการแลนด์บริดจ์ ได้ทักท้วงถึงความไม่สมบูรณ์ของรายงาน และความจำเป็นที่กมธ.ต้องได้รับคำชี้แจงเพิ่มเติมจากสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบศึกษาโครงการ ก่อนที่กมธ.จะพิจารณาอนุมัติรายงานผลการศึกษาได้ เช่น คำถามเรื่องท่อส่งน้ำมันที่ไม่มีความชัดเจน

การเปลี่ยนแปลงแผนการศึกษาสภาพแวดล้อมซึ่งอาจขัดกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ และเรื่องความน่าเชื่อถือในการประเมินความต้องการของบริษัทเดินเรือที่จะมาใช้โครงการแลนด์บริดจ์ เรื่องการประเมินสินค้าที่จะมาใช้โครงการ ซึ่งตนมองว่ามีความเกินจริง รวมถึงเรื่องการประเมินความแออัดของการเดินเรือในช่องแคบมะละกาและท่าเรือสิงคโปร์ก็ยังมีข้อสงสัยมาก ในกรณีการประหยัดต้นทุนการขนส่งเมื่อเทียบกับการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกาก็ยังไม่ชัดเจน

รวมทั้งไม่สามารถให้ตัวเลขทางการเงินที่สมเหตุผลในการคำนวณผลตอบแทนทางการเงินและทางเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้บทสรุปของรายงานการศึกษาโครงการที่ สนข. เคยทำ ยังขัดแย้งกับบทสรุปของรายงานการศึกษาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ได้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการศึกษา มีผลสรุปว่าโครงการแลนด์บริดจ์ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ในขณะที่ผลการศึกษาของโครงการ ผลตอบแทนการลงทุนสูงถึง 17% อาจทำให้นายกรัฐมนตรีสื่อข้อมูลผิดกับนักลงทุนต่างประเทศ ในระยะ 2-3 ปีนี้รัฐบาลได้ใช้งบประมาณถึงกว่า 68 ล้านบาทในการศึกษา แต่จนถึงวันนี้โครงการก็ยังไม่สมบูรณ์ “ดังนั้น วันนี้ กมธ.จากพรรคก้าวไกลทั้งหมด 4 คน จึงขอถอนตัวและลาออกจากกมธ.ดังกล่าว โดยให้มีผลทันที ประกอบด้วย ตน น.ส.ศิริกัญญา นายศุภณัฐ และนายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล” นายจุลพงศ์ กล่าว ด้าน น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ในการประชุมได้มีการซักถามค้างอยู่จากวันที่ 22 ธ.ค. 2566 กับทาง สนข. และที่ปรึกษาที่จัดทำรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งยังคงถกเถียงกันในหลายประเด็นเพื่อจะได้ข้อสรุปว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยอย่างไร และโครงการนี้จะมีความคุ้มค่ามากแค่ไหน

วันนี้ทางผู้ชี้แจงตอบคำถามไปได้คำถามเดียว คือ กรณีสินค้าเทกอง ทางประธานกมธ.ก็สั่งปิดประชุม เรื่องนี้ตนมองว่ามีปรากฏอยู่ในรายงานการประชุมครั้งที่แล้ว ที่บอกไว้ชัดเจนว่าจะต้องให้ทางหน่วยงานตอบคำถามจนสิ้นสงสัย “แต่วันนี้กลายเป็นว่าเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาตัวรายงาน ซึ่งหมายความว่าเป็นครั้งสุดท้าย ทั้งๆ ที่คำตอบหลายข้อยังไม่ครบถ้วน ตนได้ร้องขอให้เชิญหน่วยงาน เช่น สนข. แต่ประธานก็ไม่ได้เชิญ กลับพยายามลงมติเพื่อรับรองตัวรายงาน จึงเป็นเหตุให้พรรคก้าวไกลขอไม่เป็นตรายางในการอนุมัติหรือไม่อนุมัติตัวรายงานฉบับนี้ เนื่องจากยังไม่มีการส่งข้อมูลมาให้พิจารณา และยังไม่มีการขอขยายอายุของกมธ.ชุดนี้ออกไป

เพื่อให้มีการพิจารณาอย่างต่อเนื่อง” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว ด้าน รศ.สมพงษ์ กล่าวว่า ข้อมูลที่เป็นประเด็นสำคัญคือข้อมูลสินค้าถ่ายลำ (Transshipment) ซึ่งก็คือสินค้าต่างประเทศ เพราะความคุ้มค่าของโครงการนี้ เป้าหมายหลักคือสินค้าถ่ายลำประมาณ 78% เป้าหมายที่ 2 คือการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ ซึ่งเราเห็นด้วยว่าต้องทำและเร่งทำ แต่ด้วยประมาณการเช่นนี้ เท่ากับชะตากรรมของโครงการนี้ขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ของปริมาณสินค้าถ่ายลำ ที่จนถึงตอนนี้ยังขาดความชัดเจนว่ามีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีโอกาสเข้ามาชี้แจง

ขณะที่ นายศุภณัฐ กล่าวว่า เจตนารมณ์หลักของเราทุกคน คือหาคำตอบให้พี่น้องประชาชนว่า จริงๆ แล้วโครงการแลนบริดจ์ จะกำไรหรือขาดทุน จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยได้หรือไม่ แต่สิ่งที่พยายามทำร่วม 90 วัน ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมรายงานของ สศช. จึงแตกต่างจากรายงานของ สนข. และข้อมูลหลายอย่างที่อยู่ในรายงานที่มีการลงมติเห็นชอบ ก็ยังใช้ข้อมูลของ สนข. เกือบทั้งหมด โดยไม่มีเหตุผลว่าทำไมถึงตัดข้อมูลของ สศช. ทิ้ง ในฐานะกมธ. ซึ่งเป็นผู้ศึกษา เราไม่ควรเลือกว่าจะหยิบหรือไม่หยิบข้อมูลไหนมาใช้ เพราะหน้าที่ของเราคือนำข้อมูลทั้งหมดใส่ในรายงานอย่างรอบด้าน แต่ผลสรุปที่ออกมาอาจเรียกได้ว่าเป็นการแทงหวยว่าเราหยิบข้อมูลของ สนข. เป็นตัวตั้ง เมื่อเป็นแบบนี้เชื่อว่าจะสร้างความเสียหายแก่ประเทศ เพราะเรากำลังนำข้อมูลด้านเดียวจากหน่วยงานราชการไปขายต่างประเทศ ถ้าต่างประเทศย้อนกลับมาว่าศึกษาแล้วไม่คุ้มทุน นั่นหมายความว่าประสิทธิภาพในการศึกษาทำวิจัยของรัฐบาลไทยแย่หรือไม่

“หรือรัฐบาลไทยกำลังไปหลอกให้ต่างชาติมาลงทุน นี่เป็นเหตุผลว่าถ้ารายงานออกมาเป็นแบบนี้ เราใช้กลไกกมธ.หรือสภาฯ เป็นตรายาง จะสร้างความเสียหายต่อผมในฐานะผู้ศึกษา และเสียหายต่อรัฐสภา รวมถึงผู้ที่นำข้อมูลเหล่านี้ไปอ้างอิงเพื่อเชื้อเชิญต่างประเทศมาลงทุน” นายศุภณัฐ กล่าว นายศุภณัฐ กล่าวว่า ยืนยันว่าเราไม่ได้ขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ แต่หน้าที่ของกมธ.ในรอบนี้ คือ ศึกษาเฉพาะตัวโครงการแลนด์บริดจ์ ถ้าโครงการจะขาดทุนแต่สร้างผลประโยชน์ให้เศรษฐกิจภาคใต้ในอนาคต รัฐบาลก็ต้องชี้แจงว่าทำอย่างไร แต่ ณ เวลานี้ ข้อมูลตัวเลขที่ตนขอไปตั้งแต่วันแรกก็ยังไม่ได้รับ หน่วยงาน สศช. กับ สนข. ก็ยังไม่มีการคุยกัน

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ