ทลายเครือข่ายศิลปินดัง แอบอ้างโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ลวงเหยื่อสูญเงินกว่า 2,000 ล้าน

ทลายเครือข่ายศิลปินดัง แอบอ้างโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ลวงเหยื่อสูญเงินกว่า 2,000 ล้าน

วันที่ 11 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวสยามนิวส์ รายงานว่า กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พร้อมเจ้าหน้าที่ชุดจับกุม ร่วมกันจับกุมผู้ต้องหา จำนวน 4 คน ได้แก่

1. น.ส.รัชญา (สงวนนามสกุล) อายุ 33 ปี (เสียชีวิต)

2. นายณัฏฐ์สันธิษณ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 33 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ 61/2567 ลง 8 ม.ค.67

3. นางสาวณัฐรดา (สงวนนามสกุล) อายุ 58 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ 62/2567 ลง 8 ม.ค.67

4. นางสาวรัชนก (สงวนนามสกุล) อายุ 28 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ 63/2567 ลง 8 ม.ค.67

5. นายนพันษกรณ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 57 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ 64/2567 ลง 8 ม.ค.67 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน ร่วมกันฉ้อโกง, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น, ร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอสารราชการปลอม, โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง ร่วมกันนำสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด, ร่วมกันฟอกเงิน, สมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่มีการสมคบกัน

และอีกจำนวน 6 คน ได้แก่ 1. นายสรวัฒ (สงวนนามสกุล) อายุ 62 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ 65/2567 ลง 8 ม.ค.67 2. นางมนชยา (สงวนนามสกุล) อายุ 62 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ 66/2567 ลง 8 ม.ค.67 3. นายพุทธิวัฒน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 23 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ 67/2567 ลง 8 ม.ค.67 4. นางสาวฤมลชนก (สงวนนามสกุล) อายุ 23 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ 68/2567 ลง 8 ม.ค.67 5. นายณัฏฐ์สันต์ทัศน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 33 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ 69/2567 ลง 8 ม.ค.67 6. นางสาวสงกรานต์ (สงวนนามสกุล) อายุ 37 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ 70/2567 ลง 8 ม.ค.67 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน ร่วมกันฟอกเงิน, สมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่มีการสมคบกัน

พฤติการณ์สืบเนื่องจาก เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 ได้มีกลุ่มผู้เสียหายจำนวนหลายราย เข้าร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ว่าเมื่อปี 2559 น.ส.รัชญาฯ ผู้ต้องหา อ้างว่ารู้จักกับสถาบันการเงิน สามารถเข้าถึงโครงการเงินกู้วงเงินสูง อัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยแอบอ้างหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ ชักชวนกลุ่มผู้เสียหายเข้าร่วมลงทุน จนทำให้สูญเงินกว่า 2,000 ล้านบาท ต่อมาภายหลังผู้เสียหายไม่ได้รับเงินตามที่ผู้ต้องหากล่าวอ้าง ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) จึงมอบหมายให้ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) เข้าทำการสอบสวนคดีดังกล่าว เพื่อทำการสืบสวนติดตามตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีโดยเร็ว

จากการสืบสวนทราบว่า เมื่อต้นปี 2559 มีคนแนะนำให้ผู้เสียหายรู้จักกับ น.ส.รัชญาฯ บอกว่าสามารถติดต่อดำเนินเรื่องการกู้เงินจ่ายธนาคารเกี่ยวกับธุรกิจ SME วงเงินสูง ดอกเบี้ยต่ำ และใช้เวลาอนุมัติไม่นาน ผู้เสียหายสนใจจึงทำการติดต่อนัดพบกันวันที่ 10 ม.ค.59 น.ส.รัชญาฯ อธิบายขั้นตอนการกู้เงิน และแหล่งที่มาของเงิน โดยอ้างว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินจากธนาคารแห่งหนึ่ง ขณะนั้นได้นำเงินกู้ SME มาจากต่างประเทศ ดอกเบี้ยต่ำประมาณ 1-2 % ต่อปี ระยะผ่อนคืนประมาณ 20 ปี ใช้เวลาดำเนินการ 45 วัน ผู้เสียหายต้องการเงินไปทำธุรกิจ จึงทำสัญญานายหน้ากับ น.ส.รัชญา ในวงเงิน 50 ล้านบาท โดยจ่ายค่ามัดจำนายหน้าแก่

น.ส.รัชญาฯ ไว้ส่วนหนึ่ง แต่เมื่อถึงกำหนด อ้างว่าติดค่าธรรมเนียม นำหนังสือเอกสารธนาคาร หน่วยงานราชการ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ ผู้เสียหายได้โอนเงินไปยังบัญชีธนาคารของ น.ส.รัชญาฯ ต่อมาผู้เสียหาย ทำสัญญานายหน้ากับ น.ส.รัชญาฯ เพิ่มเติมอีกในวงเงิน 40 ล้านบาท โดยได้ให้ค่ามัดจำนายหน้าไว้ส่วนหนึ่งเช่นกัน น.ส.รัชญาฯ ก็เริ่มมีการอ้างรูปแบบการเรียกค่าธรรมเนียมในการเบิกถอนเงินจากผู้เสียหายเรื่อยมา และในห้วงหลังได้มีการแอบอ้างองคมนตรี เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือแก่ผู้เสียหายมากยิ่งขึ้น

ต่อมาประมาณปี 2563 ผู้เสียหายไม่สามารถหาเงินโอนจ่ายให้แก่ น.ส.รัชญาฯ ที่อ้างว่าเป็นค่าธรรมเนียม น.ส.รัชญาฯ จึงแนะนำให้ผู้เสียหาย ชักชวนให้บุคคลอื่นมาร่วมจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าว เนื่องจากผู้ต้องหาอ้างว่าอ้างว่าหากไม่ได้เงินมาตามจำนวนที่แจ้งไป จะทำให้เงินที่ผู้เสียหายเคยลงทุนนั้นสูญเปล่า จากนั้นผู้เสียหายจึงได้ทำการเชิญชวนผู้เสียหายรายอื่น ๆ เพิ่มเติมเข้ามา ต่อมาต้นปี 2564 น.ส.รัชญาฯ ได้แจ้งว่าบัญชีของตนถูก ปปง. อายัด ได้ให้ผู้เสียหายโอนค่าธรรมเนียมนั้นไปยังบัญชีใหม่ในบัญชีเครือญาติอีกจำนวนหลายบัญชี

จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 15 ม.ค.66 น.ส.รัชญาฯ ได้เสียชีวิตลงกะทันหัน ด้วยโรคประจำตัว ผู้เสียหายทั้งหมด จึงตรวจสอบว่าเงินที่ น.ส.รัชญาฯ ได้ไปดำเนินการอย่างไรต่อ จึงทราบว่าไม่มีโครงการกู้ยืมเงินดังกล่าวเกิดขึ้นแต่อย่างใด และเป็นการแอบอ้างหน่วยงานต่าง ๆ ปลอมเอกสารธนาคาร ให้มีความน่าเชื่อถือ เป็นเพียงกลอุบายของผู้ต้องหาทั้งสิ้น ตลอดระยะเวลากว่า 6 ปี ที่หลอกลวงผู้เสียหายลักษณะเดียวกันซ้ำไปซ้ำมา จึงเข้าข่ายการฉ้อโกงเป็นปกติธุระตรวจสอบประวัติของ น.ส.รัชญาฯ พบว่า ก่อนเกิดเหตุ ประกอบอาชีพ ขายของออนไลน์ ภายหลังจากการมีเงินจากการหลอกลวง ได้สร้างบริษัทค่ายเพลง ร่วมงานกับศิลปินที่มีชื่อเสียงในวงการ มียอดการรับชมกว่า 8 ล้านวิว ตรวจสอบเส้นทางการเงิน ในบัญชีเงินฝาก น.ส.รัชญาฯ พบว่ามีเงินหมุนเวียนกว่า 2,000 ล้านบาท โอนไปยังบัญชีธนาคารของเครือญาติ มีการซื้อทรัพย์สินต่าง ๆ รถหรู บ้าน ของแบรนด์เนม ที่น่าเชื่อว่าได้มาจากการกระทำความผิด

ต่อมาวันที่ 10 ม.ค.67 ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) นำกำลังเข้าตรวจค้น จำนวน 19 จุด ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา พิษณุโลก เชียงใหม่ กำแพงเพชร และสมุทรปราการ สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ จำนวน 10 คน ซึ่งเป็นเครือญาติที่พบการผ่องถ่ายเงิน พร้อมตรวจยึดทรัพย์สิน จำนวนกว่า 279,178,683 บาท ได้แก่

1. รถยนต์หรู จำนวน 1 มูลค่า 27 ล้านบาท

2. รถยนต์ จำนวน 6 คัน มูลค่า 6.5 ล้านบาท

3. เงินสด จำนวน 554,800 บาท

4. กระเป๋าแบรนด์เนม จำนวน 59 ใบ มูลค่า 4,515,000 บาท

5. นาฬิกาแบรนด์เนม จำนวน 6 เรือน มูลค่า 2,000,000 บาท

6. เครื่องประดับ จำนวน 41 รายการ มูลค่า 2,700,000 บาท

7. แว่นตาแบรนด์เนม จำนวน 38 รายการ มูลค่า 600,000 บาท

8. หมวกแบรนด์เนม จำนวน 20 ใบ มูลค่า 300,000 บาท

9. กีตาร์ จำนวน 3 ตัว มูลค่า 550,000 บาท

พร้อมทั้งอายัดเงินสดในบัญชีธนาคาร จำนวนกว่า 174 ล้านบาท และอายัดอสังหาริมทรัพย์ มูลค่า 60 ล้านบาท หลังจากนั้น จึงได้นำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางนำส่ง คณะพนักงานสอบสวน บก.ป. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ผู้สื่อข่าวนครบาล ทีมข่าวสยามนิวส์ รายงาน

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ