เตรียมรวย ม.หอการค้าไทย เปิด 10 อันดับ อาชีพดาวรุ่ง แห่งปี 2567

เตรียมรวย ม.หอการค้าไทย เปิด 10 อันดับ อาชีพดาวรุ่ง แห่งปี 2567

เมื่อไม่นานมานี้นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผย 10 อันดับธุรกิจดาวรุ่ง ปี 2567 จะมีธุรกิจไหนบ้างตามไปดูกันเลยจ้า

สำหรับ 10 อันดับธุรกิจดาวรุ่งในปี 2567

อับดับ 1

ธุรกิจ E-Commerce เนื่องจากผู้บริโภคปรับลดพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านหน้าร้าน เช่น ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ไปเป็นการใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น เพราะสะดวกสบาย สามารถเปรียบเทียบราคาและบริการได้

ธุรกิจทำ Content, Youtuber, รีวิวสินค้า และ Influencer เนื่องจากหลังโควิด-19 คนหันมาใช้บริการผ่านออนไลน์มากขึ้น จึงทำให้เกิดการเติบโตต่อเนื่อง อีกทั้งมีต้นทุนต่ำ พฤติกรรมการใช้สื่อดิจิทัลของคนในปัจจุบัน เป็นการรับรู้ผ่านออนไลน์มากขึ้น และสามารถโน้มน้าวให้เกิดการตัดสินใจซื้อ

อับดับ 2

ธุรกิจการแพทย์และความงาม เนื่องจากไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อีกทั้งคนในปัจจุบันมีความสนใจดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ และจากนโยบายของรัฐที่อยากให้ไทยเป็น Medical Hub จึงมีกระแสการเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ธุรกิจโฆษณา และสื่อออนไลน์ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ให้เวลา และใช้จ่ายผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น การผลิตสื่อออนไลน์มีต้นทุนต่ำ และมีแนวโน้มจะขึ้นมาเป็นสื่อหลักที่ใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น

ธุรกิจโทรคมนาคมสื่อสาร เช่น ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต สัญญาณสื่อสารต่างๆ เนื่องจากเมกะเทรนด์ของธุรกิจในอนาคต มีการใช้ IoT และปรับสู่ระบบ Smart Solution มากขึ้น ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนโครงการต่างๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล, สมาร์ทซิตี้ ในขณะที่ภาคเอกชน มีแนวโน้มลงทุนขยายโครงข่ายและพัฒนาบริการเพื่อตอบสนองฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น

อันดับ 3

Social Media และ Online Entertainment เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันใช้งานอินเตอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ทั้งการทำงาน ซื้อขายสินค้า การศึกษา และความบันเทิง ซึ่งแพลตฟอร์มออนไลน์ สามารพเข้าถึงได้ทั่วทุกมุมโลก

ธุรกิจด้านการเงินธนาคาร Fintech การชำระเงินผ่านระบบเทคโนโลยี เพราะพฤติกรรมการชำระเงินด้วยอิเล็กทรอนิกส์ของผู้บริโภคในปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ประกอบกับการปรับตัวของธนาคารพาณิชย์ในยุคสังคมไร้เงินสด และนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ที่จะออกมาในปี 2567

ธุรกิจ Cloud Service และ Cyber Security อัตราการเติบโตของ Digital Economy ทั่วโลกรวมถึงไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์ก็มีเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากการโจรกรรมข้อมูล การหลอกลวงออนไลน์ จึงทำให้หน่วยงานต้องมีการใช้บริการ Cyber Security มากขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยง

อันดับ 4

ธุรกิจจัดคอนเสิร์ต, มหกรรมแสดงสินค้า, Event เนื่องจากรัฐบาลสนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้า และเทศกาลต่างๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และนักธุรกิจ ผู้ประกอบการมีการจัดคอนเสิร์ตทั้งศิลปินไทย และต่างชาติเพิ่มขึ้น ทำให้การจัดงานกระจายพื้นที่ไปมากกว่ากระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่

ธุรกิจความเชื่อ (สายมู, หมอดู, ฮวงจุ้ย) เนื่องจากธุรกิจความเชื่อ อยู่ใน Soft Power ที่ช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและเผยแพร่วัฒนธรรม ขณะเดียวกัน ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม จึงทำให้ประชาชนหันไปพึ่งพาสิ่งที่เป็นความเชื่อ และความศรัทธามากขึ้น

ธุรกิจอัญมณี เช่น ทองคำ เครื่องประดับ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย มีการเก็งกำไรทองคำของผู้บริโภคยุคใหม่มากขึ้น ตลอดจนมีรูปแบบการซื้อและเก็บสะสมในรูปแบบออนไลน์ จึงทำให้คนสามารถเข้าถึงทองได้มากขึ้น

อันดับ 5

ธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต เนื่องจากประชาชนให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น อีกทั้งมีความเข้าใจเรื่องการวางแผนทางการเงินมากขึ้น ประกอบกับค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และผลิตภัณฑ์ด้านการประกันภัยมีหลากหลายขึ้น จึงทำให้คนสนใจทำประกันมากขึ้น

ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และที่เกี่ยวข้อง ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ประกอบกับราคาพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันยังอยู่ในระดับสูงและมีความผันผวน สถานีชาร์จไฟฟ้ามีเพิ่มขึ้น ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการใช้ EV จากการให้สิทธิพิเศษทางภาษี ดังนั้นเหล่านี้จึงส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มากขึ้น

ธุรกิจ Soft Power เช่น ซีรีย์ ภาพยนตร์ เพราะไทยมีวัฒนธรมที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งประวัติศาสตร์ ศิลปะ ดนตรี และอาหาร, กระแสความนิยมที่มีมากขึ้นของอาหารไทย ดนตรีไทย ภาพยนตร์ไทย

อันดับ 6

ธุรกิจอาหารเสริม เนื่องจากประชาชนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น การผลิตอาหารเสริมในปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย

ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (ที่ไม่มีแอลกอฮอล์) เนื่องจากกิจกรรมนันทนาการในประเทศทำได้มากขึ้น เช่น งานเลี้ยง สังสรรค์ เทศกาลดนตรี รับจัดเลี้ยง ขณะที่มีการเปิดตลาดส่งออกใหม่ในต่างประเทศ

ธุรกิจเกี่ยวกับน้ำตาล เนื่องจากความต้องการบริโภคน้ำตาลของทั่วโลกสูงขึ้น เพื่อใช้บริโภคโดยตรงและเป็นสารปรุงแต่งรสในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มต่างๆ

อันดับ 7

ธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) รัฐบาลมีนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจะทำให้ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ มีระดับรายได้สูงขึ้น นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมซื้อสินค้ากับร้าน Modern Trade มากขึ้นกว่าร้านค้าในรูปแบบเดิม หรือร้านโชห่วย และการกลับมาขยายตัวของการท่องเที่ยว ทำให้ร้านค้าปลีกสามาถแข่งขันกับธุรกิจ E-Commerce ได้

ธุรกิจโลจิสติกส์ Delivery และคลังสินค้า พฤติกรรมผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น ทำให้มีบริการธุรกิจขนส่งของ และคลังเก็บสินค้ามากขึ้น

ธุรกิจเงินด่วน โรงรับจำนำ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายแก้หนี้นอกระบบภาคประชาชน อีกทั้งปัจจุบันธุรกิจโรงรับจำนำปรับตัวด้วยการให้บริการที่สะดวกมากขึ้น และเปิดสาขาครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น รวมถึงการเพิ่มบริการประเมินราคาผ่านออนไลน์

อันดับ 8

ธุรกิจสัตว์เลี้ยง เนื่องจากกระแสการเลี้ยงสัตว์ ในฐานะสมาชิกของครอบครัวได้รับความนิยมมากขึ้น

ธุรกิจบันเทิงยามค่ำคืน ผับ บาร์ คาราโอเกะ รัฐบาลมีนโยบายผ่อนปรนด้วยการขยายเวลาเปิด-ปิด นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเดินทางเข้าไทยเพิ่มมากขึ้น จากการกระตุ้นท่องเที่ยวของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

อันดับ 9

ธุรกิจ E-Sport เกมส์ และที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันจำนวนสตรีมเมอร์เพิ่มมากขึ้น ทำให้คนสนใจตลาดเกมมากขึ้น มีการจัดการแข่งขันต่างๆ ทั่วโลก ในขณะที่ภาคการศึกษาของไทย สนับสนุนการสร้างทักษะแรงงานด้านนี้มากขึ้น รวมถึงมีการพัฒนาเทคโนโลยี และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยดึงดูดผู้เล่นเกมได้มากขึ้น

ธุรกิจตลาดเพื่อการท่องเที่ยว ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากกระแสการผลักดันเรื่อง Soft Power และนโยบายกระตุ้นท่องเที่ยวของภาครัฐ, การโฆษณา หรือมี Influencer ในการเดินทางท่องเที่ยว รีวิวตลาดในสถานที่ต่างๆ ทำให้มีกระแสเดินทางท่องเที่ยวตาม

ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ทัวร์ และที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น การยกเลิกวีซ่าชั่วคราวให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง การจัดแคมเปญหรือกิจกรรมสนับสนุนการท่องเที่ยวต่างๆ

อันดับ 10

ธุรกิจพลังงานทดแทน เนื่องจากแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานทดแทนมีมากขึ้น เช่น โซลาร์เซลล์ เพราะราคาพลังงานทั้งก๊าซ และน้ำมันมีความผันผวน ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนใช้พลังงานสะอาด อีกทั้งสถาบันการเงินมีนโยบายสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจด้านพลังงานทางเลือก

ธุรกิจยานยนต์ ไทยยังเป็นการผลิตสำคัญของรถยนต์สันดาป และแนวโน้มยังมีการฟื้นตัวดีในกลุ่มรถบรรทุก และรถจักรยานยนต์ ประกอบกับยอดขายในประเทศ ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการก่อสร้าง รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและมีการสนับสนุน เช่น โครงการกู้ซื้อบ้านด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ, โครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านการขนส่งยังมีต่อเนื่อง ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือแหลมฉบัง และมีการขยายเส้นทางคมนาคมที่เอื้อต่อธุรกิจก่อสร้าง และโครงการที่อยู่อาศัยตามเส้นทางคมนาคม

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ