รู้สาเหตุแล้ว หนุ่มโดนดูดเงินหมดบัญชี ที่แท้ไม่ใช่เพราะสายชาร์จ

รู้สาเหตุแล้ว หนุ่มโดนดูดเงินหมดบัญชี ที่แท้ไม่ใช่เพราะสายชาร์จ

จากกรณีที่มีกระแสข่าวหนุ่มชาร์จแบตโทรศัพท์ไว้ แล้วเงินไหลออกจากบัญชีจนเกลี้ยง รวมเป็นเงิน 92,709 บาท โดยได้เล่าว่า จู่ ๆ หน้าจอโทรศัพท์ก็ดับไป แต่ว่ายังสามารถฟังเสียงกดโทรศัพท์ได้อยู่ หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง โทรศัพท์ก็กลับมาใช้ได้ ก่อนที่บัญชีธนาคารหนึ่งแจ้งเตือนมาว่า เนื่องจากนโยบายความปลอดภัยของธนาคาร ระบบตรวจสอบได้ว่าได้มีการติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่ได้ดาวน์โหลดจาก Play Store มาใช้งาน กรุณาถอนการติดตั้งแอปฯ ดังกล่าวก่อนใช้งานแอปฯ ของธนาคาร

ก่อนเงินจะถูกดูดออกไป มองว่าโทรศัพท์ของถูกควบคุม ทำให้รู้ข้อมูลทุกอย่างในโทรศัพท์ และหากเราเผลอ พวกนี้ก็จะเล่นงานเรา เช่น ช่วงที่ชาร์จแบตฯ โทรศัพท์ไว้หรือโทรศัพท์ไม่ได้ใช้งาน จึงตั้งข้อสังเกตว่าอาจถูกควบคุมจากระยะไกล ส่วนใหญ่ผู้เสียหายที่โดนในลักษณะเดียวกัน จะใช้โทรศัพท์แบบ Android ซึ่งตอนนี้พวกตนได้ตั้งกลุ่มกันขึ้นมาแล้วประมาณ 13 คน พบว่ายอดที่ถูกดูดเงินรวมกันประมาณ 500,000 บาท ยอมรับว่าจากนี้ตนรู้สึกว่าไม่ค่อยกล้าที่จะฝากเงินไว้ในบัญชีธนาคารอีกแล้ว

ขณะที่ เฟซบุ๊ก ตำรวจสอบสวนกลาง โพสต์เตือนภัย เสียบสายชาร์จไม่ระวัง เสี่ยงถูกแฮกข้อมูลไม่รู้ตัว ปัจจุบันพบว่ามีสายชาร์จที่ฝังตัวส่งสัญญาณไร้สาย Access Point ที่เมื่อเราเสียบสายชาร์จเข้ากับอุปกรณ์ หรือโทรศัพท์มือถือของเราแล้ว จะทำให้เหล่าแฮกเกอร์สามารถเข้าถึงข้อมูลในอุปกรณ์ของเราได้จากระยะทางไกล โดยแฮกเกอร์จะสามารถโจรกรรมข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เลขบัญชีธนาคาร, รหัสธนาคาร, รหัสผ่าน หรืออาจจะถูกส่ง Malware อันตรายเข้ามายังอุปกรณ์

ซึ่งรูปร่างหน้าตาของสายชาร์จดังกล่าว จะมีหน้าตาคล้ายกับสายชาร์จทั่วไป มีทั้งสายชาร์จแบบ Lightning, Micro-USB หรือ USB-C จึงอาจทำให้หลายคนไม่ทันระวังตัว ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการถูกแฮกข้อมูล ควรระมัดระวังการใช้สายชาร์จของคนแปลกหน้า หรือการเสียบสายชาร์จไฟจากพอร์ทรูปแบบต่าง ๆ ตามสถานที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า, โรงแรม, สถานีโดยสารต่างๆ

โพสต์ดังกล่าว

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้หารือสมาคมธนาคารไทย เพื่อตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้ว พบว่ามิได้เกิดจากการใช้งานสายชาร์จปลอม แต่เกิดจากผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมที่แฝงมัลแวร์ ทำให้มิจฉาชีพล่วงรู้ข้อมูลการทำธุรกรรมของลูกค้า และควบคุมเครื่องโทรศัพท์เพื่อสวมรอยทำธุรกรรมแทนจากระยะไกล เพื่อโอนเงินออกจากบัญชี โดยอาจเลือกทำธุรกรรมในช่วงเวลาที่ผู้เสียหายไม่ได้ใช้งานโทรศัพท์

เรียบเรียง สยามนิวส์

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ