บิ๊กตู่ไม่เดือดร้อน พลังงานแพง ยันใช้รถหลวง แต่น้ำมันเติมเอง ไม่ฟรี

บิ๊กตู่ไม่เดือดร้อน พลังงานแพง ยันใช้รถหลวง แต่น้ำมันเติมเอง ไม่ฟรี

เมื่อเวลา 18.00 น.วันที่ 4 กรกฎาคม ที่สำนักงานเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุม สมช. ครั้งที่ 2/2565 ยาวถึง 20 นาทีว่า การประชุมใช้เวลายาวนาน ซึ่งเป็นการประชุมในด้านพลังงาน ซึ่งวันนี้ เป็นการประชุมสมช. ซึ่งหลายคนไม่เข้าใจตรงนี้ ว่า สมช. มีหน้าที่เกี่ยวข้องอย่างไร เพราะไม่ใช่เรื่องของทหาร ทั้งนี้ สมช.ไม่ใช่ดูแลเฉพาะหน่วยงานด้านทหาร แต่ดูแลหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วันนี้ได้มีการหารือและกำหนดแผนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ โดยเฉพาะปัญหาด้านพลังงาน

ซึ่งถ้าทุกคนติดตามความก้าวหน้าเหตุการณ์ และสถานการณ์โลกปัจจุบันมีหลายปัญหา ซึ่งหน่วยงานสมช. เป็นหน่วยงานที่ต้องดูแลเรื่องของความมั่นคง ซึ่งความมั่นคงของประเทศเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ และพลังงานก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่วันนี้สิ่งที่ได้รับผลกระทบที่มีการวิเคราะห์กันในขณะนี้เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนเตรียมพร้อม คือ 1.เรื่องการเมืองความมั่นคงระหว่างประเทศ 2.เศรษฐกิจโลก การค้าการลงทุนต่างประเทศ 3.พลังงาน 4.เรื่องการเงินการธนาคาร 5.ผลกระทบด้านการท่องเที่ยว

จ่อหามาตรการ ดูแลกลุ่มเปราะบางต่ออีก 3 เดือน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมวันนี้มีการหารือระหว่างหน่วยงาน ซึ่งมีหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ที่ประชุมมีการกำหนดมาตรการและวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ จากสาเหตุที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ผลกระทบที่เกิดจากสงคราม รวมทั้งสงครามการค้า กินระยะเวลายาวนาน จากนี้ไป 3-6 เดือนแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น หรือเกิน 6 เดือนไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เราจึงต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดผลกระทบกับประเทศไทยมากที่สุด ซึ่งแน่นอนว่า จากต้นทุนที่เรามีอยู่ในปัจจุบันเราไม่สามารถที่จะดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องมากขึ้นเรื่อยๆโดยการใช้เงินมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะจะทำให้มีปัญหา สิ่งสำคัญที่สุดจึงต้องเตรียมความพร้อมไว้เพราะผลกระทบมีมากมายหลายส่วนด้วยกัน

โดยสรุปเรากำหนดว่า การทำงานของเราที่ผ่านมามีมาตรการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางต่างๆซึ่งทำมาโดยลำดับ ตั้งแต่ช่วงเกิดโควิดและหลังการเกิดโควิด มีการคลี่คลายมากขึ้น วันนี้อยู่ในระยะ 3 เดือน คือตั้งแต่เดือน กรกฎาคม-กันยายน เราต้องมาดูว่าในช่วง 3 เดือนนี้ มีอะไรเกิดขึ้นใหม่อีกที่มีผลกระทบในทุกๆด้าน เราก็ต้องมาดูว่าเรายังมีงบประมาณอีกเท่าไหร่ และจะหาเงินได้จากที่ไหน หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆแต่วันนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการแถลงและชี้แจงแล้วว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับซึ่งคงมีการชี้แจงเพิ่มเติมว่าสิ่งไหนทำได้หรือไม่ได้ สิ่งไหนทำแล้วจะถูกฟ้องร้อง ยืนยันว่า ทั้งหมดไม่ได้เอื้อประโยชน์กับใคร แต่ยึดกฎหมายคุ้มครองที่มีอยู่เราพยายามทำให้มากที่สุด

สิ่งที่สรุปวันนี้คือการเตรียมมาตรการ 3 เดือน ดังนั้น สิ่งที่เคยให้ไปในขณะนี้เราจะมาดูว่าเราจะพิจารณาให้อะไรเพิ่มเติมได้อีกหรือไม่ และจะดูแลตรงไหนได้อีกบ้างและมีเงินอีกจำนวนเท่าไหร่ จะหาเงินได้จากที่ไหน ถ้าใช้การกู้เงินมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเป็นการสะสมหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นไปตามลำดับซึ่งจะมีผลต่อการเงินในระยะยาว ส่วนในเรื่องการที่จะไปบังคับอะไรต่างๆนั้นกฎหมายทำไม่ได้ ถ้าทำไปก็จะเสี่ยงถูกฟ้องร้อง ก็ต้องระมัดระวังมากที่สุด นายกรัฐมนตรี กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ข้อสรุปก็คือมาตรการในช่วง 3 เดือนคือตั้งแต่กรกฎาคม-กันยายน การหารือวันนี้ก็มีมาตรการที่จะต่ออายุเพิ่มเติมให้ และจะหาเงินจากที่ไหนได้บ้าง หลังจากนั้น 3 เดือนต่อไปตุลาคม-ธันวาคม จะทำอะไรได้ต่อหรืออะไรที่ทำไม่ได้แล้ว ถ้าทำแล้วจะเกิดปัญหาต่อระบบการเงินการคลังก็ต้องไปดูอีก เพราะเป็นเรื่องของหนี้สาธารณะเพราะปัจจุบันตัวเลขพุ่งขึ้นตามลำดับ ก็ต้องระมัดระวังให้มากที่สุด และจากนั้นถ้ายังมีการสู้รบอย่างนี้อีกยาวไปจนถึงปีหน้า อีก 3 เดือน ต้องพิจารณาว่าเราจะทำอย่างไรได้บ้าง หลายอย่างเราทำได้แต่หลายอย่างก็ต้องลดลงและไปดูเฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อนโดยเรียงลำดับมากไปหาน้อย วันนี้เป็นการสรุปมาในทุกประเด็นในเรื่องของปัญหา และสถานการณ์ เราจึงต้องพิจารณาตามระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี แล้วถ้าหากนานกว่านั้นก็ต้องต่อออกไปอีก ถือเป็นการวางแผนระยะยาวและเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์

ชงตั้งกรรมการ 2 ชุด ดึงภาคเอกชนร่วม นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด เพื่อเป็นกลไกเหมือนกับ ครม. เศรษฐกิจกลายๆ ซึ่งทั้งหมดจะนำเข้าหารือกับภาคเอกชนซึ่งวันนี้ก็มีข้อมูลจากภาคเอกชนเข้ามาบางส่วนแล้ว ว่ามีความต้องการหรือเดือดร้อนตรงไหนทั้งเรื่องของการเกษตร อุตสาหกรรม ทุกอย่างมีข้อมูลเกือบหมดแล้วก็จะมาดูกันว่าจะทำอย่างไรได้บ้างจากนั้นก็จะนำไปสู่การหารือของคณะรัฐมนตรี เพราะ ครม. เป็นผู้ปฏิบัติงานในวันนี้ส่วนวันนี้เป็นเรื่องของนโยบาย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้สิ่งที่เราต้องเตรียมรับคือเรื่องของพลังงาน ซึ่งเราจะต้องไม่มีคำว่าขาดแคลน และวันนี้เราอยู่ในเกณฑ์ที่ยังไม่ขาดแคลน แต่ยอมรับว่าราคาสูง ทั้งราคาของน้ำมันและแก๊ส ซึ่งเราต้องดูราคาในความเป็นจริงจากต่างประเทศด้วยเพราะมาจากมาตรฐานตัวเดียวกันจะราคาต้นทุนน้ำมัน ในส่วนของค่าการกลั่นมีกฎหมายดูแลและควบคุมอยู่ทุกฉบับ ซึ่งทางคณะกรรมการกฤษฎีกาคงออกมาชี้แจงอีกครั้งว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้ ยืนยันไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อใคร ทำไมจะไปเอื้อประโยชน์ให้ใคร

สิ่งแรกวันนี้คือไฟต้องไม่ดับ พลังงานต้องมีเพียงพอ วันนี้รับทราบแล้วว่าอัตราสำรองพลังงานยังใช้ได้ระยะหนึ่ง แม้ถ้าจะไม่มีการนำเข้าอีกจะใช้ได้อีกเท่าไหร่ เราจะอยู่ได้กี่วันได้มีการหาข้อมูลกันไว้ทั้งหมดแล้ว และได้มีการเตรียมแผนไว้ว่าถ้าขาดแล้วจะทำอย่างไร ถ้านำเข้าอีกไม่ได้มันก็จะเป็นปัญหา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พ้อเจอย้อน นายกฯไม่เดือดร้อน ใช้รถหลวง ผู้สื่อข่าวถามถึงการตั้งคณะกรรมการชายแดน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นการพูดถึงการหาแหล่งพลังงานในพื้นที่อื่นจะได้หรือไม่ เช่น อ่าวไทย อันดามัน จะสามารถขุดเจาะน้ำมันเพิ่มได้หรือไม่ จะมีการร่วมมือพื้นที่พัฒนาร่วม (เจดีเอ) ได้หรือไม่ซึ่งก็ต้องมีการหารือกัน เพราะวันหน้าเราจะพึ่งพลังงานจากประเทศไกลๆคงไม่ได้แล้ว วันนี้พลังงานก็รู้กันดีว่าน้ำมัน แก็ส มาจากไหน รอบบ้านเราทั้งนั้น ถ้ามีปัญหารอบบ้านแล้วจะเกิดอะไรขึ้น การค้าชายแดนจะมีปัญหาหรือไม่จะพันกันไปหมด เรื่องเศรษฐกิจความมั่นคงมันพันกัน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ฉะนั้นการจะทำอะไรก็ตามต้องระมัดระวังอย่างที่สุด ตนถึงได้บอกย้ำสิ่งสำคัญในวันนี้มูลค่าการค้าชายแดนสูงขึ้นมากเป็นแสนๆล้าน ฉะนั้นถ้ามีปัญหากันมากๆคนเดือดร้อนคือใครก็รู้อยู่

เมื่อถามว่า ในแผน 3 เดือนข้างหน้า จะมีการกู้เงินหรือไม่ และมีแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 อย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้พูดถึงว่ามีความจำเป็นไหม จะต้องดูแลต่อไหม อันไหนที่ต้องพอแค่นี้ก่อน สิ่งสำคัญต้องเซฟให้ได้ก่อน จะเซฟตรงไหนลงได้บ้าง ไม่ใช่ไปเรื่อยๆจนไม่มีวันสิ้นสุดมันก็จะไปไม่ได้หมด ถ้ามันไม่ได้แล้วจะกู้เงินหรือไม่ ควรต้องทำไหม จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนใช้รถใช้ถนนได้หรือไม่มันเกี่ยวข้องกันหมด อย่าไปคิดว่าเราโยนความรับผิดชอบให้ใคร ตนเจ็บปวด ตนไม่อยากจะพูด ตนเดือดร้อนกับท่านไปด้วย ไม่ใช่ตนสบาย ตนก็เดือดร้อนไปกับท่าน ตนเดือดร้อนในเรื่องการบริหาร ไม่สบายใจ แต่พยายามจะทำให้ประชาชนมากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ และต้องนึกด้วยว่าถ้าทำไปแล้วผิดจะทำอย่างไร ลองศึกษาดูกฎหมายมีอยู่ทุกตัว

เมื่อถามว่า เรื่องประหยัดพลังงานนอกจากการขอร้องแล้วจะมีการออกเป็นกฎหรือมาตรการออกมาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ฝ่ายกฎหมายเขาก็พิจารณาและบอกว่าการออกกฎหมายมาต้องจำเป็นเด็ดขาดเท่านั้นถึงจะทำได้ มันมีความเสี่ยงสูง เมื่อถามว่ามาตรการ 3 เดือนที่จะเพิ่มให้มีอะไรบ้าง นายกฯ กล่าวว่า มาตรการเดิมที่เราดูแลอยู่มีอะไรบ้างต้องพิจารณาว่าจะต่อได้แค่ไหนและควรจะต่อหรือไม่ จะต้องลิมิตหรือไม่ ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นความเดือดร้อนก็ลดลง ไม่เช่นนั้นเราจะสมทบไปเรื่อยๆแสนกว่าล้านบาทเฉพาะเรื่องพลังงานอย่างเดียว

เมื่อถามว่า จะมีรณรงค์เรื่องการประหยัดพลังงานอะไรออกมาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ได้พูดไปหลายครั้งแล้ว หลายคนก็ย้อนกลับมาว่านายกฯไม่ลำบาก นายกฯมีรถประจำตำแหน่ง เติมน้ำมันฟรี ตนไม่ได้เติมน้ำมันฟรีเลย เมื่อถามว่า โครงการพลังงานหาร 2 จะกลับมาอีกหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า กำลังดูเรื่องเครดิตพลังงาน จะมีแท็กเครดิตก็ต้องหาเงินมาอีกจะเอาจากที่ไหน ซึ่งต้องขอความร่วมมือกันอีกตรงนั้น

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ